เรามักจะเห็นเด็กๆร้องไห้ยามที่พวกเขาโดนคุณหมอฉีดยา นั่นเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กๆอาจกลัวได้ เพราะมันรู้สึกเจ็บ แต่ก็มีผู้ใหญ่บางคนที่กลัวเข็มฉีดยาเช่นกัน เห็นเข็มแล้วรู้สึกใจสั่น จะเป็นลม ควบคุมตัวเองไม่ได้ แบบนี้อาจเข้าข่ายป่วยทางจิตเวชได้ แล้วคุณล่ะ กลัวเข็มฉีดยามั๊ย มาเช็กกันว่าอาการกลัวเข็มที่เป็นอยู่เข้าข่ายเป็นโรคโฟเบียหรือเปล่า?
สารบัญเนื้อหา
โรคกลัวเข็มคืออะไร?
โรคกลัวเข็ม หรือ Needle Phobia เป็นความกลัวต่อกระบวนการทางแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดยา หรือเข็มฉีดยา อาการนี้ส่วนใหญ่จะพบในเด็กเล็ก และอาการจะลดลงเมื่อโตขึ้น และอาการอาจลดลงเมื่อต้องเข้ารับการทำหัตถการและการฉีดยาบ่อยๆ แต่ก็มีบางคนที่ยังคงกลัวเข็มฉีดยาแบบรุนแรงอยู่ แม้จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็ตาม
โรคกลัวเข็มถูกบันทึกไว้ว่าเป็นโรคทางจิตเวชเมื่อปี ค.ศ.1994 โดยได้ระบุไว้ว่าเป็นความกลัวต่อการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การฉีดยา เจาะเลือด เย็บแผล รวมไปถึงการที่มีของแหลมคมมาสัมผัสโดนตัว
โรคกลัวเข็มเกิดจากอะไร?
ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์บอกว่าโรคกลัวเข็มเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุเช่นเดียวกับโรคกลัวอื่นๆ ดังนี้
• เหตุการณ์ในอดีตที่ฝังใจ ซึ่งส่งผลกระทบทางจิตใจค่อนข้างมากจนทำให้กลัวเข็ม โดยมักจะเป็นอาการกลัวเข็มตั้งแต่ในวัยเด็กลากยาวมาจนโต
• คนในครอบครัวมีอาการกลัวเข็มให้เห็น จนทำให้รู้สึกกลัวเข็มตามไปด้วย
• มีความคิดในแง่ลบต่อแพทย์ พยาบาล หรือการทำหัตถการทางการแพทย์
• การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง
อาการของโรคกลัวเข็มมีอะไรบ้าง?
อาการกลัวเข็มปกติอาจจะแค่ร้องไห้ แต่หากมีอาการกลัวเข็มจนถึงขั้นเป็นโฟเบีย มักจะมีอาการแสดงออกมา ดังนี้
• อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น หรืออาจจะมีภาวะความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นลมได้
• เมื่อทราบล่วงหน้าว่าจะมีการฉีดยาแล้วกังวลจนนอนไม่หลับ
• ใจสั่น รู้สึกกระวนกระวาย
• มีอาการแพนิกเมื่อเห็นเข็มฉีดยา เช่น มือสั่น ปากสั่น ร้องโวยวาย หรือวิ่งหนี
• เหงื่อออก
นอกจากนี้คนที่กลัวเข็มมักจะหลีกเลี่ยงการโดนเข็ม หรือปฏิเสธการเข้ารับการฉีดยาจนส่งผลต่อการรักษาได้ และบางกรณีอาการกลัวเข็มก็รุนแรงจนตื่นตระหนก ช็อก และหมดสติได้
มีวิธีรักษาโรคกลัวเข็มหรือไม่?
โรคกลัวเข็มสามารถรักษาให้หายได้โดยใช้จิตวิทยาอยู่ 2 แนวทาง ดังนี้
1. การบำบัดจิต ความคิด และพฤติกรรม
การรักษาด้วยการบำบัดจิต เปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมจะช่วยให้รักษาโรคกลัวเข็มให้หายไปได้ โดยผู้ป่วยต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ไปนั่งดูคนอื่นฉีดวัคซีน, ไปนั่งดูหมอหลอกล่อให้เด็กฉีดยา เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจะได้เห็นว่าการฉีดยาไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสอะไร และจะลดความกลัวเข็มไปได้ แต่ในกรณีนี้ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือด้วย ถึงจะรักษาได้อย่างสำเร็จ
2. ใช้ยาในการรักษา
ในรายที่มีอาการกลัวเข็มมาก หรือมีโรคจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกจริต หรือมีการใช้สารเสพติด จิตแพทย์ก็จะให้ยาทางจิตเวชควบคู่ไปกับการบำบัดจิต ความคิด และพฤติกรรม