ตับ (Liver) เป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญของร่างกายคนเรา มีหน้าที่ในผลิตและสะสมอาหาร สร้างน้ำดีเพื่อช่วยย่อยอาหาร สร้างโปรตีนช่วยให้เลือดแข็งตัว ช่วยกรองและทำลายสารพิษ รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรคต่างๆ แต่หากมีการอักเสบบริเวณตับ หรือที่เรียกว่าตับอักเสบ จะทำให้ตับมีความเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ อาการตับอักเสบบางครั้งก็อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากไวรัส ไวรัสตับอักเสบบางชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน
สารบัญเนื้อหา
สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบ
โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) คือ โรคที่มีอาการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย สาเหตุเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้การทำงานของตับมีปัญหา ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มีโอกาสป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง รวมถึงโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ขึ้นอยู่กับติดว่าติดเชื้อไวรัสประเภทใด ทั้งนี้วิธีป้องกันและรักษาไวรัสตับอักเสบก็จะขึ้นอยู่กับประเภทของไวรัสด้วยเช่นกัน
ประเภทของไวรัสตับอักเสบ
โรคตับอักเสบติดต่อจากเชื้อไวรัส ปัจจุบันสามารถแบ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบที่สำคัญได้เป็น 5 ชนิด คือ
ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A; HAV)
เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ สามารถทำให้เกิดโรคตับอักเสบ แต่ไม่ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ติดต่อกันได้ผ่านทางอุจจาระที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม
ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B; HBV)
เชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ติดต่อกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งและเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์ และการติดต่อจากแม่สู่ลูก
ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C; HCV)
เชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ติดต่อกันได้ผ่านทางเลือด การใช้เข็มฉีดยาหรือมีดโกนร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์ และการติดต่อจากแม่สู่ลูก
ไวรัสตับอักเสบดี (Hepatitis D; HDV)
เชื้อไวรัสตับอักเสบดี เป็นเชื้อไวรัสที่มักจะแฝงมากับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ติดต่อกันได้ด้วยวิธีเดียวกันกับไวรัสตับอักเสบบี คือ ติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งและเลือด
ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E; HEV)
เชื้อไวรัสตับอักเสบอี สามารถทำให้เกิดโรคตับอักเสบ แต่ไม่ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ติดต่อกันได้ผ่านทางอุจจาระที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม
วิธีติดต่อ
การติดต่อโรคทางอาหารและน้ำ
การติดโรคทางอาหารและน้ำ จะติดต่อกันผ่านการกินอาหารและดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสอยู่ หรืออาจติดเชื้อจากมือที่มีการปนเปื้อนเชื้อแล้วไม่ได้ล้างให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารเข้าสู่ปาก ไวรัสตับอักเสบที่สามารถติดต่อกันด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ และไวรัสตับอักเสบอี
การติดต่อโรคทางสารคัดหลั่งและเลือด
การติดโรคทางสารคัดหลั่งและเลือด จะติดต่อกันผ่านการได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่ติดเชื้อไวรัส การใช้เข็มร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น การฉีดยา การสัก การฝังเข็ม และการเจาะหู การใช้มีดโกนรวมกัน รวมถึงติดต่อได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์ และติดเชื้อไวรัสจากแม่สู่ลูก ไวรัสตับอักเสบที่สามารถติดต่อกันด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสตับอักเสบดี
อาการ
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสจะเกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้ตับมีการทำงานที่ผิดปกติ สามารถแบ่งรูปแบบอาการป่วยได้เป็น 2 ระยะ คือ อาการตับอักเสบเฉียบพลัน และอาการตับอักเสบเรื้อรัง
อาการไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน
ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ติดเชื้อ ในวัยเด็กมักไม่มีการแสดงอาการ ในวัยผู้ใหญ่จะมีอาการหลังได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทุกชนิดจะมีอาการคล้ายๆ กัน โดยอาการที่พบได้มีดังนี้
-
- มีไข้ อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด
- ปวดท้อง จุกท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
- ตาเหลือง ตัวเหลือง
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบจะสามารถหายเองได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมดจะเกิดเป็นตับอักเสบเรื้อรังซึ่งเป็นระยะต่อไปของโรคนี้
อาการไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเป็นระยะเวลานานและร่างกายไม่สามารถกำจัดไวรัสชนิดนี้ได้จะเกิดตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังมีเพียง 2 ชนิด คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี อาการที่พบสามารถได้ คือ
-
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- อาเจียนเป็นเลือด
- ตาเหลือง ตัวเหลือง
ทั้งนี้ บางรายก็อาจไม่มีการแสดงอาการ หรือมีการแสดงอาการเป็นครั้งคราวเท่านั้น การตรวจวินิจฉัยโรคจะทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับว่ามีภาวะตับอักเสบหรือไม่ ผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน หากไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับได้
วิธีป้องกัน
การป้องกันไวรัสตับอักเสบสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยผู้ที่จะฉีดวัคซีนตับอักเสบควรตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบดูก่อนว่าเคยมีการป่วยด้วยโรคตับอักเสบหรือไม่ หากไม่เคยติดเชื้อมาก่อนจึงจะสามารถรับวัคซีนได้ กรณีเด็กแรกเกิดจะต้องได้รับวัคซีนตับอักเสบบีภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ปัจจุบันมีวัคซีนที่ช่วยให้การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเพียงสองชนิด คือ วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี สำหรับวิธีอื่นๆ ในการป้องกันโรค มีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนปรุงอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกอยู่เสมอ ควรล้างผักและผลไม้ก่อนรับประทาน และดื่มน้ำที่สะอาด
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะมีดโกนและเข็มฉีดยา
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
วิธีรักษา
การรักษาโรคตับอักเสบ จะขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดไหน และใช้วิธีการรักษาตามอาการ ว่าอยู่ในระยะตับอักเสบเฉียบพลัน หรือตับอักเสบเรื้องรัง
การรักษาตับอักเสบเฉียบพลัน
การรักษาในระยะนี้จะมีการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เพื่อลดการอักเสบของตับ ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย แพทย์จะให้สารอาหารที่มีประโยชน์ และแนะนำให้พักผ่อนอย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยในระยะนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ส่วนน้อยที่จะมีอาการรุนแรง
การรักษาตับอักเสบเรื้อรัง
การรักษาในระยะนี้จะมีการรักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส และฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วย ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพื่อเฝ้าดูอาการและระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจขึ้นได้ ซึ่งบางรายที่มีอาการรุนแรง เช่น ตับวาย ตับแข็ง หรืออาจเป็นโรคมะเร็งตับ ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เสียชีวิตได้
ในบรรดาไวรัสตับอักเสบทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ไวรัสที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยคือ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสทั้งสองชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังได้ โดยไวรัสตับอักเสบบีเป็นไวรัสที่พบบ่อยมากที่สุด หากติดเชื้อไวรัสแบบเรื้อรังจะทำให้เกิดผังพืดที่ตับ และอาจทำให้เกิดตับแข็งได้ รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ
เรียบเรียงข้อมูลจาก
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ – Bumrungrad International Hospital (1)
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ – Bumrungrad International Hospital (2)
- คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)
- โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน – Paolo Hospital
- โรงพยาบาลเจ้าพระยา – Chaophya Hospital