การตื่นนอนในตอนเช้า และเข้านอนในตอนกลางคืน ถือเป็นเรื่องปกติของคนส่วนใหญ่ในโลกที่ทำเช่นนี้กันมาอย่างยาวนาน คนเรามีการใช้ชีวิตในตอนกลางวันเพื่อทำงาน หาอาหาร และกลับมาพักผ่อนนอนหลับในยามกลางคืน กิจวัตรประจำวันอันเป็นความเคยชินเหล่านี้คือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ตามธรรมชาติ เพื่อให้ร่างกายได้ทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ และทำงานอย่างเป็นเวลา คนเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า นาฬิกาชีวิต
นาฬิกาชีวิตคืออะไร? นาฬิกาชีวิต หรือนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) คือ ระบบเวลาที่กำหนดการทำงานของส่วนต่างๆ ในร่างกายในแต่ละวัน นั่นคือ 24 ชั่วโมงต่อวัน โดยกำหนดเวลาการตื่นนอน การนอนหลับ การหลั่งฮอร์โมน และระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย สำหรับนาฬิกาชีวิตของมนุษย์เราธรรมชาติได้กำหนดไว้ให้ตื่นขึ้นเพื่อทำงานและหาอาหารในช่วงที่มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ เพราะเป็นเวลาที่คนเราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เวลาในการทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นคือตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น (06.00-18.00 น.) การทำงาน และการรับประทานอาหารแต่ละมื้อในเวลาเช้า กลางวัน และเย็น ควรให้อยู่ในระหว่างช่วงเวลานี้จะดีที่สุด สำหรับช่วงเวลากลางคืนคนเราควรพักผ่อนนอนหลับตั้งแต่เวลา 3 ทุ่ม (21.00 น.) เป็นต้นไป การใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวภาพจะช่วยให้ระบบร่างกายของเราทำงานได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สุขภาพร่างกายเราแข็งแรง
ปัจจุบัน คนเรามีสิ่งที่จะต้องทำในแต่ละวันมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการตื่นยาวนานกว่าปกติ จนเข้านอนดึกกว่าเวลาที่สมควร หรือบางคนอาจต้องทำงานในเวลากลางคืน และตื่นอีกครั้งในเช้าวันต่อมา ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตให้ตรงตามเวลานาฬิกาชีวิตได้ เมื่อทำเช่นนี้เป็นประจำติดต่อกันอย่างยาวนานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก ยิ่งอายุมากจะยิ่งเห็นชัดว่าร่างกายมีความทรุดโทรมมากกว่าปกติ ถ้าหากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางคืน และพักผ่อนตามเวลาที่เหมาะสมจะดีที่สุด