คนที่มีลูกก็อยากให้ลูกเติบโตมาอย่างแข็งแรง ร่าเริง สดใส สุขภาพดี ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ แต่หากวันใดวันหนึ่งเห็นลูกซึมเศร้า รู้สึกเครียดบ่อยๆ ไม่ค่อยกินข้าว ไม่ค่อยอยากพูดคุยกับใคร เก็บตัว หรือไม่ร่าเริง สดใสเหมือนเคย พ่อแม่ควรเฝ้าระวังลูกอย่างใกล้ชิด เพราะลูกอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หากไม่รีบทำการรักษาอาจเกิดปัญหาร้ายแรงตามมาได้
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะทางอารมณ์ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า หงุดหงิดง่าย สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า โดยมีอาการติดต่อกันทุกวัน นานเกิน 2 สัปดาห์ อารมณ์เหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเอง รวมทั้งอาจนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และสุขภาพได้
สารบัญเนื้อหา
อาการของโรคซึมเศร้าในเด็ก
ในเด็กแต่ละคนจะแสดงอาการแตกต่างกันไป ซึ่งผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของลูกหลานตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ จากอาการดังต่อไปนี้
• รู้สึกเศร้า หรือสิ้นหวังเป็นเวลานาน
• หงุดหงิด หรือรู้สึกไม่พอใจอยู่บ่อยๆ
• เลิกสนใจในสิ่งที่เคยชอบ
• ทำกิจกรรมต่างๆได้ไม่ดีเหมือนเดิม
• รู้สึกอ่อนหล้า หรือเหนื่อยตลอดเวลา
• หลับไม่ค่อยลง หรือนอนหลับเยอะผิดปกติ
• ขาดสมาธิ
• มีปัญหากับเพื่อน กับโรงเรียน
• มีปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดน้อยลง
• มีความลังเล และขาดความมั่นใจในตัวเอง
• เบื่ออาหาร หรือทานมากกว่าปกติ
• ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง
• มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างมาก
• วิตกกังวล ไม่ผ่อนคลาย
• รู้สึกว่างเปล่า หรือไร้ความรู้สึก
• มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายร่างกายตัวเอง
สาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็ก
สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่
1. ปัจจัยทางชีวภาพ
• เกิดจากพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
• ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่น ยาเคมีบำบัด, ยาลดความดัน, สารเสพติด เป็นต้น
• โรคบางชนิด อย่างเช่น เด็กที่มีภาวะโรคเรื้อรัง ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ก็มีโอกาสทำให้เป็นซึมเศร้าได้
2. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการเลี้ยงดู ความรุนแรงในครอบครัว การเลี้ยงดูลูกเชิงลบ การดุด่าว่ากล่าว หรือใช้อารมณ์ในการดูแลลูก เกิดเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ การถูกทอดทิ้ง การถูกกลั่นแกล้ง เป็นต้น นอกจากนี้เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ และเด็กที่มีความวิตกกังวลสูง มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าเด็กปกติทั่วไป
การรักษาโรคซึมเศร้าในเด็ก
การรักษาโรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีเดียวในการรักษา หรือรักษาไปทั้งสองแบบพร้อมกันก็ได้
1. การรักษาโดยการใช้ยา
ยาจะช่วยปรับสารเคมีในสมองให้สมดุลขึ้น การรักษาด้วยยาอาจไม่ได้เห็นผลทันที ต้องกินยาต่อเนื่องหลายสัปดาห์ถึงจะเห็นผลในการรักษา หลังจากที่อาการดีขึ้นก็ต้องกินยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ จะหยุดยาได้ก็ต่อเมื่อแพทย์ลงความเห็นให้หยุดเท่านั้น
2. การทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัดสามารถทำได้หลากหลายแบบด้วยกัน ทั้งทำเป็นรายบุคคล รายกลุ่ม หรือรายครอบครัว โดยการทำจิตบำบัดนี้จะกระทำโดยแพทย์และนักจิตวิทยาร่วมกัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับความคิดและพฤติกรรม จึงต้องเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อความต่อเนื่องในการรักษา
วิธีรับมือเมื่อลูกป่วยเป็นซึมเศร้า
1. ยอมรับที่ลูกเป็นโรคนี้ และหมั่นพูดคุยกับลูก รับฟังปัญหาของลูกอย่างตั้งใจ ไม่โต้เถียงหรือโต้แย้งใดๆ เปิดใจให้กับลูก
2. อยู่เป็นเพื่อนลูกในช่วงเวลาที่ลูกไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้
3. ชวนลูกไปทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือออกไปเที่ยวในที่ที่แปลกตา เพื่อให้ลูกมีความสุขมากขึ้น
4. คอยสำรวจพฤติกรรมทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยที่โรงเรียนอาจขอความร่วมมือคุณครูช่วยสอดส่องพฤติกรรมด้วย และพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากันกับคุณครู เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด
5. ดูแลสุขภาพกายและใจของคนในครอบครัวให้เป็นปกติ เพราะการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องใช้พลังกายและใจสูงมาก ดังนั้นทุกคนในครอบครัวจำเป็นต้องมีสุขภาพกายและใจที่ดีอยู่เสมอ
6. หากอาการป่วยของลูกไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป