อาการปวดหัวเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปและมีอาการปวดหลายแบบ ซึ่งจะบ่งบอกโรคได้จากลักษณะอาการที่เป็น ลักษณะอาการปวดหัวที่พบได้ เช่น อาการปวดที่บริเวณศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง อาการปวดหัวแบบปวดทั่วศีรษะ อาการปวดหัวแบบปวดกล้ามเนื้อเหมือนโดนบีบรัดบริเวณขมับและหน้าผาก อาการปวดแบบปวดรุนแรงบริเวณดวงตา เป็นต้น
อาการปวดหัวตามบริเวณต่างๆ ของศีรษะ รวมถึงความรุนแรงและความถี่ในการเกิดอาการจะบ่งบอกถึงสาเหตุของอาการได้ว่าเป็นอาการปวดหัวประเภทใด ประเภทของอาการปวดหัวที่ทำให้รู้สึกปวดหัวบ่อยๆ มีดังนี้
สารบัญเนื้อหา
อาการปวดหัวจากความเครียด (Tension-type headache)
อาการปวดหัวจากความเครียดเป็นอาการปวดหัวที่พบบ่อยที่สุด ลักษณะอาการปวดหัวแบบนี้จะมีการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะและใบหน้า รู้สึกปวดตึงๆ เหมือนถูกอะไรรัดศีรษะ มักจะปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง อาจมีการปวดคอและปวดไหล่ร่วมด้วย ซึ่งอาการปวดมักจะมีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ไม่รบกวนการทำใช้ชีวิตประจำวันมาก และไม่ค่อยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ระยะเวลาในการปวดหัวครั้งหนึ่งจะประมาณ 30 นาที – 7 วัน หากในหนึ่งเดือนมีอาการปวดหัวบ่อยมากกกว่า 15 วันขึ้นไป แสดงว่าเป็นอาการปวดหัวจากความเครียดแบบปวดหัวเรื้อรัง
เกิดจากอะไร
อาการปวดหัวจากความเครียดเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง จึงส่งผลต่อกล้ามเนื้อรอบกะโหลกศีรษะ สาเหตุมักมาจากปัญหาทางอารมณ์ เช่น ความเครียด วิตกกังวล อาการซึมเศร้า หรืออาจเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมจนร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า การใช้สายตามากเกินไป การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อดอาหาร อดนอน สิ่งเหล่านี้ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดหัวจากความเครียดได้เช่นกัน
วิธีแก้ไขและรักษา
อาการปวดหัวจากความเครียดหากไม่ได้มีอาการปวดหัวแบบเรื้อรัง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออาจรับประทานยาต้านอักเสบที่มาใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาพร็อกเซน (Naproxen) หากมีอาการปวดหัวแบบเรื้อรังควรรับการรักษาจากแพทย์ รวมถึงควรหมั่นฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อและออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้อาการดีขึ้น
อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine headache)
อาการปวดหัวไมเกรน คือ อาการปวดหัวแบบตุบๆ อาจเกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าหรือด้านข้างของศีรษะก็ได้ มักจะเป็นการปวดหัวข้างเดียว แต่บางครั้งก็อาจปวดหัวข้างได้ อาการปวดหัวจะเริ่มปวดเล็กน้อยก่อนแล้วจึงมีอาการปวดรุนแรงขึ้น ผู้ที่มีอาการไมเกรนอาจมีอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ตาพร่า หรือก่อนจะมีอาการปวดหัวเกิดขึ้นอาจมีอาการนำของไมเกรน เช่น รู้สึกหวาดกลัวต่อแสงและเสียงรอบข้าง ระดับอาการปวดหัวจะมีความรุนแรงในระดับปานกลางถึงมาก ระยะเวลาของอาการจะมีอาการประมาณ 4–72 ชั่วโมง ผู้ป่วยมักจะมีอาการตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป โดยส่วนใหญ่อาการปวดหัวไมเกรนจะมีอาการไม่เกิน 1 วัน
เกิดจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่าอาการปวดหัวไมเกรนเกิดจากอะไร เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมอง หรือสารสื่อประสาทในสมอง หรืออาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของหลอดเลือดสมองก็เป็นได้ อาการปวดหัวจากไมเกรนสามารถถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยแวดล้อมรอบข้าง เช่น แสง เสียง กลิ่น อากาศร้อนหรืออากาศเย็นจัด อาหารบางชนิด รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีการอดอาหาร หรือมีการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
วิธีแก้ไขและรักษา
อาการปวดหัวไมเกรนมีวิธีรักษา 2 แบบ คือ การรักษาแบบป้องกันการปวดศีรษะ และการรักษาอาการเมื่อมีการปวดศีรษะ วิธีรักษาและบรรเทาอาการสามารถทำได้ ดังนี้
-
-
การรักษาแบบป้องกัน
-
หากมีอาการปวดหัวรุนแรงเป็นเวลามากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมากกว่า 2-3 ครั้งต่อเดือน สามารถป้องกันการเกิดอาการปวดหัวได้ด้วยการรับประทานยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรือยาฟลูนาริซีน (Flunarizine) ก่อนนอน
-
-
การรักษาอาการปวดหัว
-
หากมีอาการนำมาก่อนหรือมีอาการปวดหัวสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตีนรอยด์ เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือยาเออร์โกตามีนทาเทรต (Ergotamine Tartrate)
อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache)
อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ คือ อาการปวดจี๊ดขึ้นมาอย่างรุนแรง มักจะปวดด้านเดียวที่บริเวณรอบดวงตา เบ้าตา หรือบริเวณขมับ เป็นอาการพบได้ไม่บ่อย แต่ทำให้รู้สึกทรมานมาก ลักษณะอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์มีหลายแบบ เช่น ปวดแบบแสบร้อน ปวดเหมือนถูกอะไรทิ่มแทง ปวดหัวบริเวณดวงตาเหมือนเบ้าตาจะหลุด เป็นต้น อาจมีอาการอื่นร่วมกับอาการปวดหัวรุนแรง ได้แก่ อาการตาแดง น้ำมูกไหล น้ำตาไหล หนังตาบวมแดง รู้สึกกระสับกระส่าย มีเหงื่อออกบริเวณใบหน้าและหน้าผาก ระยะเวลาในการปวดหัวประมาณ 15 นาที – 3 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะมีอาการประมาณ 45 นาที อาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งต่อวันหรือวันเว้นวัน อาจปวดหัวติดต่อกันเป็นเวลานานหลายวันหรืออาจนานหลายสัปดาห์
เกิดจากอะไร
อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 และระบบประสาทอัตโนมัติ (Trigeminal Autonomic Cephalalgias; TACs) อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์สามารถถูกกระตุ้นได้จากสิ่งต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายอย่างหนัก และการนอนหลับไม่เพียงพอ ความเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิก็ส่งผลต่ออาการปวดหัวได้เช่นกัน หากอุณหภูมิสูงขึ้นสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ได้
วิธีแก้ไขและรักษา
อาการปวดหัวคลัสเตอร์มีวิธีการรักษาตามลักษณะและความถี่ของอาการ สามารถแบ่งวิธีรักษาได้เป็น 3 วิธี คือ การรักษาแบบป้องกันและบรรเทาอาการปวด การรักษาอาการคลัสเตอร์กำเริบเฉียบพลัน และการรักษาอาการปวดหัวคลัสเตอร์แบบเรื้อรัง การรักษาและบรรเทาอาการด้วยวิธีต่างๆ สามารถทำได้ดังนี้
-
-
การรักษาแบบป้องกันและบรรเทาอาการปวด
-
กรณีที่มีอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ทุกวัน แต่มีความถี่ในแต่ละวันไม่บ่อยมากนัก การป้องกันและบรรเทาอาการในระยะสั้นสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2–4 สัปดาห์ หากต้องการป้องกันอาการปวดหัวในระยะยาวอาจใช้การรักษาด้วยยาในกลุ่มยาต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blockers; CCBs) เช่น ยาเวอราพามิล (Verapamil) หรือยาสำหรับรักษาอาการจิตเวช เช่น ยาลิเทียมคาร์บอเนต (Lithium Carbonate) ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เป็นต้น
-
-
การรักษาอาการปวดหัวกำเริบแบบเฉียบพลัน
-
กรณีนี้แพทย์จะเป็นผู้ทำการรักษา โดยรักษาผู้ป่วยด้วยการให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% (Oxygen Inhalation) ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ในระยะเวลาประมาณ 15 นาที หรืออาจรักษาด้วยการฉีดยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan) เข้าที่บริเวณชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งจะลดอาการปวดได้ในรยะเวลาประมาณ 15 นาที หรือฉีดยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) เข้าที่บริเวณกล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนจะช่วยลดอาการปวดได้อย่างรวดเร็วในเวลาประมาณ 5 นาที
-
-
การรักษาอาการปวดหัวแบบเรื้อรัง
-
หากมีอาการปวดหัวคลัสเตอร์แบบเรื้อรังและไม่สามารถรักษาด้วยการใข้ยาได้ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดบริเวณเส้นประสาท ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดโดยใช้ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุ การผ่าตัดด้วยรังสีแกมม่า เป็นต้น
อาการปวดศีรษะหรือปวดหัวเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป มีอยู่หลายลักษณะ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและรักษาได้ด้วยตนเอง ผู้ที่ต้องการรักษาอาการปวดหัวด้วยการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนซื้อยามาใช้เอง ในกรณีที่มีอาการปวดหัวอยู่บ่อยครั้งเป็นประจำ มีอาการปวดหัวจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือมีลักษณะการปวดหัวแบบผิดปกติจากเดิม แนะนำให้เข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลต่างๆ เช่น คลินิก โรงพยาบาล และเมื่อพบแพทย์ด้วยอาการปวดหัวควรแจ้งรายละเอียดตำแหน่งและลักษณะอาการให้ชัดเจน เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป