หลายคนอาจเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกเครียดและเหนื่อยล้าจากการทำงานกันมาบ้าง แต่ถึงอย่างนั้น เพียงได้พักผ่อนทั้งกายและใจสักเล็กน้อย ความเครียดและเหนื่อยล้าที่เคยมีก็หายไปอย่างง่ายดาย แต่สำหรับบางคนแล้ว ไม่ว่าจะพยายามผ่อนคลายร่างกายและจิตใจตัวเองยังไง ก็ไม่สามารถช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ ทั้งยังรู้สึกหมดเรี่ยวแรงและกำลังใจในการทำงานแต่ละวัน จนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความรู้สึกเหล่านี้เรียกกันว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome)
วิธีสังเกตภาวะหมดไฟในการทำงาน การสังเกตตนเองว่ามีภาวะหมดไฟหรือไม่ สามารถทำได้โดยวิธีการสังเกตอาการต่างๆ ทั้ง 3 ด้าน คือ อาการทางด้านอารมณ์ อาการทางด้านความคิด และอาการทางด้านพฤติกรรม
-
ภาวะหมดไฟด้านอารมณ์
ผู้ที่มีภาวะหมดไฟจะมีอาการด้านอารมณ์ในแง่ลบ คือ มีความรู้สึกหดหู่ ความรู้สึกเศร้า รู้สึกเครียดง่าย หงุดหงิด และโมโหง่ายขึ้น สูญเสียความมั่นคงทางอารมณ์ มีอารมณ์แปรปรวน ขาดกำลังใจในการทำงาน และมักเกิดความรู้สึกไม่พอใจในงานที่ตนเองกำลังทำอยู่
-
ภาวะหมดไฟด้านความคิด
ผู้ที่มีภาวะหมดไฟจะมีอาการด้านความคิดในแง่ลบ คือ มักจะคิดถึงคนอื่นรอบข้างในแง่ลบเสมอ คิดถึงตนเอง เพื่อนร่วมงาน และงานที่ทำอยู่ในทางที่ไม่ดี รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตนเองไม่มีศักยภาพในการทำงาน อยากหนีจากปัญหาและหนีไปจากงานที่ทำอยู่ หวาดกลัวและหวาดระแวง ไม่ไว้ใจคนรอบข้าง มีความคิดชอบโทษคนอื่น
-
ภาวะหมดไฟด้านพฤติกรรม
ผู้ที่มีภาวะหมดไฟจะมีอาการด้านพฤติกรรมในแง่ลบ คือ พฤติกรรมด้านการกินเปลี่ยนไป อาจกินอาหารไม่ลงหรือกินมากเกินไปจนผิดปกติ นอนหลับไม่สนิทหรือรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน มีปัญหาเกี่ยวกับบริหารจัดการเวลา มาทำงานสายบ่อยครั้งขึ้น หรืออาจขาดงานโดยไม่มีเหตุผลจำเป็นบ่อยๆ ขาดความรับผิดชอบในการทำสิ่งต่างๆ ชอบผัดวันประกันพรุ่งประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
สำหรับผู้ที่มีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะด้านอารมณ์ ด้านความคิด หรือด้านพฤติกรรม หากมีลักษณะอาการในแต่ละด้านเป็นไปในแง่ลบ นั่นก็หมายความว่าคุณกำลังมีแนวโน้มที่จะมีภาวะหมดไฟ หรือตอนนี้คุณอาจจะกำลังหมดไฟกับการทำงานอยู่ก็เป็นได้
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ภาวะหมดไฟเป็นโรคที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลเสียคุกคามต่อชีวิตและความสามารถในการทำงานของหลายคนเป็นอย่างมาก ผู้ที่มีปัญหาด้านภาวะหมดไฟควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างจิตแพทย์ หรืออาจปรึกษานักจิตวิทยา เพื่อให้ช่วยแก้ไขและรักษาอาการนี้ให้หายไป เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับการทำงานได้อย่างเดิม