โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B; HBV) คือ โรคตับอักเสบที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่บริเวณตับ และอาจก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง จนนำไปสู่โรคร้ายที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น โรคตับวาย โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ สามารถติดต่อกันผ่านการได้รับสารคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้โรคไวรัสตับอักเสบประเภทอื่นๆ ก็สามารถก่อให้เกิดอาการตับอักเสบได้เช่นกัน ปัจจุบันสามารถป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดนี้ได้ด้วยวัคซีน
สารบัญเนื้อหา
สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบบี มีสาเหตุเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ซึ่งเป็น DNA Virus ชนิดสายคู่ ในตระกูล Hepadnaviridae สกุล Orthohepadnavirus เป็นไวรัสที่ค่อนข้างทนทานเมื่อเทียบกับไวรัสชนิดอื่นๆ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีอาการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้ตับทำงานผิดปกติ เกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลัน เมื่อเป็นเรื้อรังจะเกิดผังพืดในตับ ส่งผลให้เกิดตับวาย ตับแข็ง และมะเร็งตับได้
การติดต่อ
โรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งและเลือด จากการได้รับเลือดหรือได้รับส่วนประกอบของเลือดที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การใช้ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนเลือดของผู้ติดเชื้อ เช่น การฉีดยา การสัก ฝังเข็ม และการเจาะหูโดยใช้เข็มร่วมกัน การใช้มีดโกนร่วมกัน รวมถึงติดต่อได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์ และติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
อาการ
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะมีระยะฟักตัวหลังได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 6-26 สัปดาห์ จึงจะการแสดงอาการ อาการไวรัสตับอักเสบบีสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
-
อาการไวรัสตับอักเสบบีระยะเฉียบพลัน
ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ติดเชื้อ ในวัยเด็กมักไม่มีการแสดงอาการ ในวัยผู้ใหญ่จะมีอาการหลังได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 6-26 สัปดาห์ อาการที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ จะมีดังนี้
- มีไข้
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด
- ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
- ตาเหลือง ตัวเหลือง
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีบางรายอาจมีอาการรุนแรง อาจเกิดอาการตับวาย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถหายเองได้ ผู้ป่วยส่วนน้อยประมาณ 5-10% ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายจะเกิดเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
-
อาการไวรัสตับอักเสบบีระยะเรื้อรัง
ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นระยะเวลานาน และภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดไวรัสชนิดนี้ออกจากร่างกายได้นานกว่า 6 เดือนขึ้นไป จะเกิดเป็นตับอักเสบเรื้อรัง บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ส่วนมากมักจะไม่แสดงอาการของโรค ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับการอักเสบของตับด้วย อาการไวรัสตับอักเสบบีที่สามารถพบได้ในระยะเรื้อรังมีดังนี้
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน หรืออาเจียนเป็นเลือด
- ตาเหลือง ตัวเหลือง
วิธีป้องกัน
การป้องกันไวรัสตับอักเสบบีสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ในกรณีที่เป็นเด็กแรกเกิด กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทยได้กำหนดในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไว้ว่า เด็กไทยทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนตับอักเสบบีภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด เพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะการติดต่อจากแม่สู่ลูก นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีวิธีป้องกันอื่นๆ ดังนี้
- ไม่ใช่เข็มฉีดยาหรือเข็มเจาะสักร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยา การเจาะร่างกาย การสัก การฝั่งเข็ม หรือการเจาะหู เป็นต้น
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวที่มีการปนเปื้อนเลือดร่วมกันกับผู้อื่น เช่น มีดโกน
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
วิธีรักษา
วิธีการรักษาโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดบีจะใช้วิธีการรักษาตามอาการ ซึ่งจะแบ่งวิธีรักษาโรคตามระยะอาการป่วย 2 แบบ คือ ระยะตับอักเสบเฉียบพลัน ระยะตับอักเสบเรื้อรัง
การรักษาตับอักเสบเฉียบพลัน
การรักษาในระยะนี้จะมีการรักษาตามอาการ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเองได้ ส่วนน้อยที่จะมีอาการรุนแรง จึงเน้นให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานในการจัดการไวรัสได้ การรักษาตามอาการจะมีดังนี้
-
- อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย รักษาด้วยการให้พักผ่อนให้เพียงพอ
- อาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร รักษาด้วยการรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หากอาการยังไม่ดีขึ้นจะให้รักษาด้วยยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
นอกเหนือจากนี้ ผู้ที่ป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบบียังควรดูแลรักษาตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตับทำงานหนักจนอาจทำให้อาการตับอักเสบแย่ลงกว่าเดิม
การรักษาตับอักเสบเรื้อรัง
การรักษาในระยะนี้จะมีการรักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสและฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วย ซึ่งสามารถเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อได้ทุกขนาน ขึ้นอยู่ลักษณะของอาการป่วยและระยะของโรค ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพื่อเฝ้าดูระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจขึ้น เช่น โรคตับวาย โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ ซึ่งอาจจะส่งผลรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้
เรียบเรียงข้อมูลจาก
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ – Bumrungrad International Hospital (1)
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ – Bumrungrad International Hospital (2)
- คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)
- มูลนิธิเอ็มพลัส – MPLUS