อาการเบื่องานที่ทำ รู้สึกอยากพักผ่อน อยากหนีไปจากงานที่ทำสักครู่ เป็นเรื่องปกติที่คนทำงานหลายคนประสบพบเจอเวลาเกิดอาการเครียดจากงาน แต่หากคุณมีอาการเครียดจากงานอย่างต่อเนื่องและยาวนาน รู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก และไม่ตอบสนองกับความต้องการในการทำงานหรือทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม นั่นอาจเข้าข่ายภาวะหมดไฟในการทำงานก็เป็นได้
ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออะไร?
ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน และไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาวะหมดไฟนี้แบ่งลักษณะอาการออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. เหนื่อยหล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง สูญเสียพลังจิตใจ
2. มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ
3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่าง หรือเป็นไปทางลบกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย และลูกค้า
ลักษณะงานที่เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟในการทำงาน
1. ภาระงานหนักและปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ
2. ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
3. ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ได้ทุ่มเทไป
4. รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
5. ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
6. ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
วิธีแก้ไขตัวเองหากมีภาวะหมดไฟในการทำงาน
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟที่มากเกินไปด้วย
2. ผ่อนคลายความเครียดบ้าง โดยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูหนัง, ฟังเพลง, ออกกำลังกาย, ท่องเที่ยว เป็นต้น
3. จัดระเบียบการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำงานใหม่ เช่น โฟกัสกับงานแต่ละชิ้นตามลำดับความสำคัญ, ไม่นำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน หรือทำนอกเวลางาน เป็นต้น
4. ลดการใช้อุปกรณ์สื่อสาร เพราะเมื่อคุณออนไลน์ตลอด เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้เรื่องงานเข้ามาหาอย่างไม่รู้ตัว เช่น การนั่งตอบอีเมล หรือตอบไลน์ในวันหยุด เป็นต้น
5. ปรับทัศนคติในการทำงาน มองหาคุณค่าในงานที่ทำ พยายามทำให้งานและชีวิตส่วนตัวมีความสมดุลกัน
6. มีกิจกรรมนอกจากงานกับเพื่อนร่วมงานบ้าง เช่น พบปะสังสรรค์ พูดคุย กินข้าวกัน ทั้งช่วงพักเที่ยง และหลังเลิกงาน
7. พูดคุย ระบายความเครียดกับคนที่ไว้ใจ ก็จะช่วยลดความเครียดจากงานได้
8. ลาพักร้อน พาตัวเองออกจากความเครียด เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น
จริงอยู่ที่ภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นเรื่องของสภาพจิตใจ แต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้เหมือนกัน เช่น มีอาการเหนื่อยหล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ และถึงแม้ว่าภาวะหมดไฟในการทำงานจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการแก้ไข โรคซึมเศร้าอาจตามมาได้ และอาจนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรังได้ด้วยเช่นกัน