อาการไอเป็นอาการปกติที่พบได้ทั่วไป แต่หากมีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป อย่าชะล่าใจ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการไอต่อเนื่องนานหลายวันแบบนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่างๆอยู่ก็ได้ ยิ่งไปพบแพทย์เร็วเท่าไหร่ เราก็จะได้รักษาตัวเองได้ทัน ก่อนที่อาการจะหนักยิ่งกว่าเดิม
สารบัญเนื้อหา
1. โรคภูมิแพ้
หากมีอาการไอแห้งร่วมกับอาการคัดจมูก คันจมูก จามบ่อยๆ ระคายเคืองคอ มีน้ำมูกใส และจะยิ่งไอหนักมากขึ้นเมื่อเจอกับฝุ่น ควัน ควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ อากาศเย็น หรือสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ อาจเป็นไปได้ว่ากำลังเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ ถึงแม้ว่าโรคภูมิแพ้จะสามารถบรรเทาให้หายได้โดยการใช้ยา แต่หากเป็นรุนแรงอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
2. ไซนัสอักเสบ
ในกรณีที่ไอแบบมีเสมหะติดต่อกันนานๆ ร่วมกับมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูกขุ่นขาวหรือสีเหลือง ได้กลิ่นเหม็นในโพรงจมูก หรือมีกลิ่นปาก ปวดตื้อๆบริเวณใบหน้า อาจเป็นสัญญาณของการเป็นไซนัสอักเสบอยู่ก็ได้ ไซนัสอักเสบปกติไม่อันตรายมาก กินยาก็หาย แต่อาจมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น การติดเชื้อที่อาจลุกลามเข้าไปในกระบอกตา, โรคแทรกซ้อนขึ้นสมอง, ริดสีดวงจมูก
3. ต่อมทอนซิลอักเสบ
หากมีอาการไอร่วมกับเจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก เป็นไข้ อาจเป็นไปได้ว่ากำลังเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง หากเกิดจากเชื้อไวรัสส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและได้ทานยาที่ถูกกับโรค อาการจะดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน แต่หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาหรือทานยาไม่ครบอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
4. หลอดลมอักเสบ
อาการไอมักจะเป็นหลังจากเป็นหวัด โดยช่วงแรกๆจะไอแบบมีเสมหะ บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย และอาการไอจะเป็นอาการไอถี่ๆ ไอแบบหอบเหนื่อย หรือหายใจแล้วได้ยินเสียงวี้ดๆร่วมด้วย ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ตอนที่เป็นหวัดแล้วไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม
5. กรดไหลย้อน
สำหรับคนที่มีอาการไอแห้งๆ โดยมักจะไอหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือไอหลังมื้ออาหารเกือบทุกมื้อ ร่วมกับอาการแสบร้อนกลางอก จุกเสียด เรอเปรี้ยว แต่ไม่มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ อาจต้องสงสัยโรคกรดไหลย้อนไว้เป็นอันดับแรก ถึงแม้ว่ากรดไหลย้อนจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่กรดไหลย้อนเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยกรดไหลย้อนมีคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง ดังนั้นเมื่อเป็นโรคนี้ควรรีบทำการรักษาทันที
6. หอบหืด
อาการไอของโรคหอบหืดมักจะมีอาการไอเรื้อรังมาตั้งแต่เด็ก มักจะเป็นๆหายๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการไอจะหนักขึ้นในช่วงเช้า เวลาวิ่งเล่น ตอนกลางคืน หรือเมื่อสัมผัสถูกสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้น เช่น ไรฝุ่นบ้าน, เชื้อรา, อากาศเย็น, แอร์เย็น การรักษาโรคหอบหืดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุคนไข้ และภาวะที่เกิดร่วมกับโรคหอบหืด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเสียชีวิตได้จากสมองขาดออกซิเจน
7. วัณโรคปอด
ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดมักจะมีอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการไอแบบมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำๆ เป็นเวลานาน เบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลด โดยเฉพาะหากมีประวัติสัมผัสบุคคลใกล้ชิดที่ป่วยเป็นวัณโรค ก็ยิ่งต้องสงสัยว่าจะป่วยเป็นวัณโรคปอด โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการกินยา ซึ่งต้องใช้เวลากินยาประมาณ 6 – 8 เดือน
8. มะเร็งปอด
หากมีอาการไอเรื้อรัง โดยมีเลือดสดๆออกมา ร่วมกับมีน้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ เป็นไข้บ่อย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก กระแอมไอดังๆ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจเป็นมะเร็งปอดได้ หากตรวจพบไว โอกาสหายยิ่งมาก