หลายคนคงเคยได้ยินคำเตือนจากคนรอบข้างอยู่บ่อยๆ ว่าหากเราถูกของมีคมที่มีสนิมบาดตามร่างกายนั้นจะทำให้เป็นบาดทะยักได้ ซึ่งปกติแล้วสนิมจะเกิดขึ้นกับวัสดุอุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบของโลหะเท่านั้น ตัวอย่างของอุปกรณ์มีโลหะที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีได้แก่ มีด ตะปู คัตเตอร์ เป็นต้น ทุกครั้งที่ใครสักคนได้รับแผลจากการถูกบาดจนเลือดออกจากสิ่งของเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อของมีคมชิ้นนั้นมีสนิมติดอยู่ ก็มักจะมีความกลัวเกิดขึ้นว่า เราจะเป็นโรคบาดทะยักรึเปล่านะ?
ความจริงแล้วการเป็นบาดทะยักไม่ได้เกิดจากการถูกของมีสนิมบาดแต่อย่างใด แต่บาดทะยักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า คลอสติเดียม เททาไน (Clostridium Tetani) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถอยู่ได้ตามพื้นดิน พื้นที่สกปรก และพื้นผิวต่างๆ ที่มีฝุ่น อีกทั้งยังสามารถพบเจอได้ในผิวหนังและตามส่วนต่างๆ ของร่างกายคนและสัตว์อีกด้วย เชื้อบาดทะยักจะเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ก็ต่อเมื่อเราได้รับบาดแผล อาจเป็นการถูกบาดจากของมีคมใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของที่เป็นโลหะหรือมีสนิมเท่านั้น
หากว่าเราบังเอิญได้รับแผลจากการทำกิจกรรมต่างๆ และบาดแผลมีความสกปรก หรือไม่ถูกล้างทำความสะอาดให้ดีพอ หรือขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ก็มีความเสี่ยงต่อการที่เชื้อบาดทะยักจะสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลนั้นได้ การได้รับบาดแผลจากแก้ว ไม้ หรือถูกข่วนและกัดโดยสัตว์ ก็สามารถทำให้เราเป็นบาดทะยักได้เช่นกัน
วิธีป้องกันบาดทะยักที่ดีที่สุดคือการได้รับวัคซีน ซึ่งปัจจุบันวัคซีนบาดทะยักจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรได้รับ ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักมาก่อนควรติดต่อโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีบริการด้านวัคซีน หรือหากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 5 ปีขึ้นไป และบาดแผลที่ได้รับมีความสกปรกมากก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนบาดทะยักด้วยเช่นกัน ผู้ที่มีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อหลังจากได้รับบาดแผลควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาเพราะคุณอาจกำลังเป็นบาดทะยัก หากช้าเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และร้ายแรงถึงขั้นสามารถทำให้เสียชีวิตได้