เรามักจะเห็นข่าวบ่อยๆ ที่มีคนวิ่งในงานมาราธอน หรือฮาล์ฟมาราธอน หัวใจวายเฉียบพลันขณะวิ่ง ซึ่งอาการหัวใจวายเฉียบพลันนี้แม้แต่คนที่แข็งแรง อายุยังน้อย ไม่เคยป่วยด้วยโรคใดๆมาก่อนก็สามารถเป็นได้ แล้วสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง? อาการเป็นยังไง? แล้วใครสามารถเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้บ้าง? พร้อมวิธีการป้องกันในการเป็นโรคนี้ขณะวิ่ง วันนี้เรามีข้อมูลของโรคนี้มาให้กับคุณแล้ว
สารบัญเนื้อหา
สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลัน
1. ภาวะ Over load จากการออกแรงมากเกินไป
เป็นธรรมดาเมื่อเราออกแรง หรือออกกำลังกายมากๆ หัวใจจะเต้นเร็ว ความดันเลือดสูงขึ้น และอะดรีนาลินในร่างกายก็สูงขึ้นอยู่แล้ว แต่หากออกกำลังกายอย่างหนักแบบต่อเนื่องก็จะทำให้หัวใจเกิดภาวะบีบตัวแรงจนส่งเลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก เป็นเหตุให้มีอาการจุกแน่นหน้าอก วูบ และอาจเสียชีวิตได้หากช่วยไม่ทัน
2. ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้า หรือวงจรไฟฟ้าในหัวใจ
ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้า หรือวงจรไฟฟ้าในหัวใจมักเป็นความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด แต่ไม่มีอาการใดๆแสดงออกมาให้เห็น จนไปออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก จนเกินภาวะหัวใจวายเฉียบพลันขึ้นมา
3. ความผิดปกติของหัวใจที่ไม่เคยรู้มาก่อน
สำหรับสาเหตุนี้ แบ่งได้ออกเป็น 2 ช่วงอายุ ดังนี้
• อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนมากจะพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ หรือภาวะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด รวมไปถึงภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดร้ายแรง ที่อาการจะกำเริบเมื่อออกแรงหนักๆ อย่างการวิ่งอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
• อายุมากกว่า 35 ปี คนกลุ่มนี้มักพบภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน โรคความดันโลหิต หรือภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
อาการของโรคหัวใจวายเฉียบพลัน
ส่วนใหญ่อาการของโรคหัวใจวายเฉียบพลันมักจะไม่มีแจ้งเตือนใดๆมาก่อน อย่างที่เราเห็นข่าวว่าคนสุขภาพดี อายุน้อย ก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันกันเยอะ เพราะไม่คิดว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจนั่นเอง แต่หากพบความผิดปกติเหล่านี้ให้นึกถึงอาการหัวใจวายเป็นอันดับแรกๆ
• รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ
• แน่นหน้าอก หรือแสบบริเวณลิ้นปี่
• ใจสั่น
• หน้ามืด รู้สึกคลื่นไส้
• ปวดร้าวบริเวณกราม คอ แขน หัวไหล่
• หอบผิดปกติ
• วิ่งเซไปมา
• เหงื่อท่วมตัว
• พูดไม่รู้เรื่อง
คนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
• คนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
• คนที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจและหลอดเลือด ร่วมกับโรคหัวใจขาดเลือด หรือตรวจพบการทำงานของหัวใจผิดปกติ
• คนที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เจ็บบริเวณกราม เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกเมื่ออยู่ในท่านั่ง นอนราบ หรือขณะออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือรู้สึกโมโห ตื่นเต้น มีอาการหายใจไม่สะดวกเวลานอน จนต้องลุกขึ้นมานั่งหายใจ มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
• คนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบหืด
• คนที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
• คนสูบบุรี่
• คนที่เคยหมดสติขณะออกกำลังกาย หรือวูบตอนเปลี่ยนท่า ยกของหนัก ทำกิจกรรมหนักๆ
• คนที่ไม่ได้ไปซ้อมก่อนลงวิ่งจริง หรือเคยวิ่งแค่ไม่กี่กิโลเมตร แต่อยู่ๆไปลงวิ่งมาราธอน
การป้องกันโรคหัวใจวายเฉียบพลันขณะวิ่ง
1. ตรวจสุขภาพก่อนลงแข่งขันวิ่ง
ก่อนที่จะไปวิ่งมาราธอน หรือฮาล์ฟมาราธอนนั้น อยากให้ทุกคนได้ไปตรวจสุขภาพกันก่อน เพื่อเช็กดูว่าหัวใจเราทำงานได้ตามปกติไหม หรือมีภาวะสุ่มเสี่ยงกับการออกแรงมากๆหรือเปล่า
2. ฝึกให้ร่างกายได้ออกแรงสม่ำเสมอ
ก่อนจะลงวิ่ง ก็ให้ฝึกซ้อมร่างกายให้ได้ออกแรงสม่ำเสมอด้วย อาจจะเริ่มจาก 20 – 30 นาทีก่อน สัก 2 – 3 สัปดาห์ เพื่อเช็กสภาพร่างกายว่าไหวหรือเปล่า แล้วค่อยขยับเวลาให้ห่างไปเรื่อยๆ
3. อย่าหยุดวิ่งกะทันหัน
หากวิ่งมาเป็นระยะทางที่นานพอสมควรแล้วหยุดวิ่งกะทันหัน อันตรายมาก เพราะการหยุดวิ่งทันทีอาจทำให้ระบบไหลเวียนเลือดจากกล้ามเนื้อกลับมาที่หัวใจทำงานได้ลดน้อยลง และเลือดอาจคั่งอยู่ตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆจนเป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และอาจทำให้หมดสติ หรือบางรายอาจเกิดอาการหัวใจวายและเสียชีวิตได้ทันที
4. หากมีโรคประจำตัวต้องระวัง
คนที่มีโรคประจำตัวแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนลงวิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
5. ลดพฤติกรรมที่ทำให้หัวใจวาย
พฤติกรรมที่ทำให้หัวใจวายมีหลายอย่างด้วยกัน เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง, การออกกำลังกายอย่างหนัก, การไม่ออกกำลังกายเลย, ปล่อยให้ตัวเองอ้วน, สูบบุหรี่, ติดคาเฟอีน เป็นต้น