คนเป็นพ่อแม่เมื่อเห็นลูกเจ็บไข้ได้ป่วย มันช่างทรมานหัวใจเหลือเกิน ยิ่งปัจจุบันนี้เชื้อโรคต่างๆก็เยอะขึ้น รวมถึงสภาพอากาศที่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว จนทำให้เด็กป่วยกันเยอะ หากเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาคงไม่เป็นไร แต่หากเป็นโรคติดต่อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนี่สิน่าห่วงมาก โดยเฉพาะ 6 โรคยอดฮิตของเด็กเหล่านี้
1. โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปากนี้เป็นโรคยอดฮิตของเด็กวัยเรียนอนุบาลเลยก็ว่าได้ เพราะมีการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ซึ่งสายพันธ์ก่อให้เกิดอาการรุนแรงคือ Coxsackie A และ Enterovirus 71
อาการ
มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ต่อมาจะมีอาการเจ็บปาก เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินข้าว มีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก อาการจะหายไปเองภายใน 7 – 10 วัน บางรายก็จะมีอาการแทรกซ้อนแต่พบได้น้อยมาก คือ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด และส่งผลอันตรายต่อเด็กจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีการป้องกัน
สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสะอาด และไม่ใช้ภาชนะหรือสิ่งของร่วมกันกับเด็กคนอื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงไม่พาเด็กไปยังสถานที่แออัดในช่วงที่มีการระบาดของโรค
2. โรคเฮอร์แปงไจน่า
หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับโรคนี้ โรคเฮอร์แปงไจน่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ชนิดเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก แต่โรคนี้จะเป็นเฉพาะแค่ที่ปากเท่านั้น ติดต่อจากการสัมผัส หรือรับประทานสิ่งที่ปนเปื้อนกับเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ และมักพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี
อาการ
มีไข้สูง และมีแผลในช่องปากบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง ถึงแม้อาการจะไม่รุนแรงนอกจากมีไข้สูง แต่ก็ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนด้วย เช่น การอักเสบของก้านสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ทั้งนี้ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้น้อยมาก
วิธีการป้องกัน
สอนลูกให้ล้างมือด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ และหลีกเลี่ยงพาลูกไปยังสถานที่แออัด
3. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นโรคทางเดินหายใจที่เด็กเล็กเป็นกันเยอะ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนของทุกปี แต่สำหรับผู้ใหญ่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป และสามารถหายเองได้ แตกต่างจากเด็กเล็กเมื่อเป็นแล้วอาการจะรุนแรงกว่ามาก เพราะเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมอักเสบได้
อาการ
มีไข้ ไออย่างรุนแรง หายใจเร็ว หายใจติดขัด มีเสียงหวีด หอบ กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและผิวหนังของจะบุ๋ม ตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน
วิธีการป้องกัน
พ่อแม่ ผู้ปกครองควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสตัวลูกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงให้คนอื่นจูบ หอมเด็กด้วย เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรค และหลีกเลี่ยงการพาลูกไปยังสถานที่ที่แออัด
4. ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza Virus แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B
อาการ
อาการป่วยจะเริ่มปรากฏหลังได้รับเชื้อ 1 – 4 วัน อาการจะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย แต่อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ส่วนใหญ่จะหายเองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ก็มีบางรายที่มีอาการหนักเพราะมีภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งกลุ่มผู้เสี่ยงสูงที่จะเป็นอาการหนักคือ กลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
วิธีการป้องกัน
โรคไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง
5. โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุระหว่าง 5 – 14 ปี สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค
อาการ
อาการเบื้องต้นคล้ายกับการเป็นไข้หวัดธรรมดาทั่วไป แต่จะมีอาการที่รุนแรงกว่า ไข้สูงกว่า ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน บางรายก็มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หากทำการรักษาช้าอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งระยะการฟักตัวของไข้เลือดออกจะอยู่ในช่วง 3 – 5 วัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข้สูง ระยะช็อกและมีเลือดออก และระยะฟื้นตัว
วิธีการป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคไข้เลือดออก แต่สามารถป้องกันได้โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป คนที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วก็มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นโรคไข้เลือดออกใหม่ได้อีก และการเป็นครั้งที่สองจะมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรก ดังนั้นควรดูแลตัวเองและลูกให้ห่างไกลจากยุงลายกันด้วย
6. ท้องเสียจากการติดเชื้อ Norovirus
Norovirus เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น และระบาดอย่างรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย มักปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม จึงทำให้เกิดท้องเสียขึ้น
อาการ
ท้องเสียจากการติดเชื้อ Norovirus นี้ไม่เพียงแต่พบการติดเชื้อในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็เป็นได้เช่นกัน โดยอาการของการติดเชื้อไวรัสนี้ได้แก่ ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดท้อง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามร่างกาย หากเด็กเล็กป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่จนเกิดอาการขาดน้ำได้ ฉะนั้นควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที
วิธีการป้องกัน
สอนลูกให้ล้างมือด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำที่สะอาด และหากต้องกินข้าวร่วมกันกับผู้อื่นให้ใช้ช้อนกลางด้วย