ปัจจุบันมีการระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส 2019 (COVID-19) โรคติดต่อที่สามารถติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมนุษย์ ติดต่อกันได้โดยง่ายและมีการแพร่กระจายอย่างรุนแรงไปทั่วโลก เนื่องจากโรคไวรัสนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ จึงทำให้การควบคุมสถานการณ์เป็นไปได้ยาก อีกทั้งคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดหลายอย่างเกี่ยวกับโรคนี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลและไม่รู้จะปฏิบัติตนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรดี บทความนี้จึงมานำเสนอข้อเท็จจริงที่ควรรู้ให้ได้ทราบกัน
สารบัญเนื้อหา
ข้อเท็จจริงที่ควรรู้
-
-
-
โคโรน่าไวรัส 2019 (COVID-19) เป็นแล้วหายเองได้
ปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีภูมิคุ้มกันที่คอยช่วยปกป้องดูแลเราจากโรคภัยต่างๆ เป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยป้องกัน กำจัด และทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เป็นเชื้อไวรัสที่ไม่ส่งผลต่อร่างกายรุนแรง สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดีจะสามารถหายป่วยจากโรคนี้ได้ด้วยตัวเอง
ด้านนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80-90% หายได้เอง และยืนยันว่าโรคนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส ทั้งนี้การที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อไปยังคนรอบข้างและคนในสังคม -
อาการของโรคไม่รุนแรง
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ในระยะฟักตัวจะไม่มีการแสดงอาการ และเมื่อมีอาการก็มักจะไม่รุนแรงมากนัก โดยอาการของโรคที่พบบ่อยมากที่สุดคือมี ไข้ รองลงมาคืออาการไอ และหายใจลำบาก
โฆษกกระทรวงสาธารณะสุข นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ 90% มีอาการไม่รุนแรง จะมีอาการป่วยทั่วไปคล้ายกับไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ และอ่อนเพลีย หากพักผ่อนอย่างเต็มที่และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็จะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของโรคน้อยมาก เนื่องจากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและภูมิคุ้มกันดี -
เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019) สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากลักษณะของไวรัสมีโปรตีน (Spike) ยื่นออกมาจากตัวคล้ายกับหนาม ซึ่งสามารถจับกับตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า ACE2 (Angiotensin Converting Enzyme 2) ในร่างกายของคนได้ดี ทำให้เข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้ง่าย จึงสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่ายยิ่งขึ้น
การแพร่กระจายของโรคระหว่างคนสู่คน สามารถแพร่ผ่านทางละอองฝอย (droplet) จากการไอหรือจาม ละอองนี้สามารถฟุ้งกระจายได้ไกล 1-2 เมตร สามารถติดเชื้อได้จากการหายใจรับเอาละอองฝอยที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และอีกวิธีหนึ่งคือ การสัมผัส (contact) สามารถติดเชื้อได้จากสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรค แล้วมาสัมผัสบริเวณตา จมูก และปาก ดังนั้นการอยู่บริเวณที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก การใช้บริการสาธารณะ และการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้ติดไวรัสนี้ได้
-
อัตราการเสียชีวิตต่ำ
ปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 169,387 คน มีผู้เสียชีวิตรวม 6,513 คน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 3.84% ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมาก จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประเทศอื่นๆ ถึงแม้โรคนี้จะเป็นโรคที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ แต่เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก ทำให้การควบคุมการระบาดได้ยาก อัตราการเสียชีวิตก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและภูมิคุ้มกันต่ำจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ
-
ระยะเวลาฟักตัวยาวนาน
ระยะเวลาฟักตัว คือ ระยะเวลานับตั้งแต่ที่มีการติดเชื้อ จนถึงระยะที่เริ่มมีการแสดงอาการของโรค โดยโรคนี้จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2-14 วัน ผู้ที่เพิ่งกลับจากการเดินทางจากต่างประเทศ ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรระมัดระวังตัวเองและสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน หากมีอาการป่วยด้วยไข้ ไอ หรือเหนื่อยง่าย ควรไปพบแพทย์
-
หากร่างกายยังไม่แสดงอาการจะไม่มีการแพร่เชื้อ
เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการได้รับสารคัดหลั่งที่เกิดจากการไอและจามของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น หากผู้ที่ติดเชื้อยังไม่มีการแสดงอาการป่วยใดๆ ออกมา ทั้งการไอหรือการจาม ก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังคนรอบข้างได้ ถึงแม้จะมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่เชื้อไวรัสยังมีน้อยมากเกินกว่าจะสามารถแพร่กระจายโรคได้
ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันแล้วจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะไม่แพร่เชื้อในคนที่อยู่ในระยะฟักตัว จะแพร่เชื้อเมื่อมีอาการป่วยแล้วเท่านั้น -
เชื้อไวรัสตายง่ายมาก หากยังไม่เข้าสู่ร่างกาย
เชื้อไวรัสชนิดนี้มีเปลือกเป็นไขมันหุ้มอยู่ที่ด้านนอก (Enveloped Virus) จึงสามารถถูกทำลายชั้นไขมันได้ง่ายด้วยสบู่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก แอลกอฮอลล์ และสารฆ่าเชื้อต่างๆ เช่น คลอรีน เมื่อปราศจากชั้นไขมันที่ห่อหุ้มตัวแล้ว ไวรัสชนิดนี้ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้อีกต่อไป
-
ตรวจไม่พบเชื้อ อย่าเพิ่งเชื่อว่าไม่เป็น
หากไม่มีอาการป่วยใดๆ การไปตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโคโรน่าไวรัส 2019 (COVID-19) อาจเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้ใช้เวลาในการฟักตัวที่ยาวนาน 2-14 วัน ผู้ที่ติดเชื้อในระยะฟักตัว ระหว่างที่ยังไม่มีอาการการตรวจระยะแรกอาจจะไม่พบเชื้อไวรัส แต่เมื่อตรวจอีกครั้งในภายหลังกลับพบว่าเป็นโรคติดต่อนี้ได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีตรวจหาเชื้อไวรัสด้วย ซึ่งบางครั้งการตรวจหาจากสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนอาจไม่พบเชื้อ แต่กลับพบเชื้อจากสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง สำหรับผู้ติดเชื้อบางคนอาจจะไม่มีการแสดงอาการของโรคเลย เนื่องจากมีสุขภาพร่างกายที่ดี ทำให้สามารถหายจากอาการป่วยได้ด้วยภูมิคุ้มกันของตนเอง -
ภูมิคุ้มกันไม่ดีถือว่ามีความเสี่ยงสูง
สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง จึงควรดูแลและป้องกันตัวเองมากเป็นพิเศษ
-
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่หายจากโรคแล้ว ปอดยังสามารถทำงานได้ปกติ
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน ผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 ร้อยละ 90 มีอาการไม่รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบกับปอด เนื่องจากเชื้อยังอยู่ทางเดินหายใจส่วนบน จะมีเพียงอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย คล้ายกับอาการของไข้หวัดเท่านั้น
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ร้อยละ 10 อาจมีสภาพของโรคหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การที่ปอดจะถูกทำลายอย่างรุนแรงนั้นมีโอกาสน้อยมาก และเกิดเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักมากๆ เท่านั้น สำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน จะไม่อาการอะไรที่ส่งผลกับปอดเลย
-
-
ถึงแม้ว่าโคโรน่าไวรัส 2019 (COVID-19) จะเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพบแพทย์ใดๆ แต่เนื่องจากเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดกันได้ง่ายมาก จึงทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปได้ยาก หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงสถานพยาบาลมีไม่มากเพียงพอที่จะดูแลรักษาผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากอาจไม่ได้รับการรักษาในทันที ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
สำหรับผู้ที่มีอายุมาก ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิคุ้มบกพร่อง ควรดูแลตนเองเป็นพิเศษ เพราะหากป่วยด้วยโรคนี้มีโอกาสอย่างมากที่จะมีอาการรุนแรง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดนั้น การป้องกันตัวเองจากโรคนี้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก นอกจากจะเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโรคแล้ว ยังเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองแพร่กระจายเชื้อโรคนี้ไปสู่คนรอบข้างและคนในครอบครัวด้วย