ตากุ้งยิงเป็นโรคที่เกิดขึ้นบริเวณรอบดวงตา อาจเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาด้านบน และเปลือกตาด้านล่าง มีลักษณะเป็นตุ่มแดงมีหนองอยู่ภายใน ทำให้เกิดความรู้สึกระคายเคือง และอาจมีอาการปวดร่วมด้วย หากทิ้งไว้นานโดยไม่ทำการรักษาสามารถทำให้เกิดเป็นแผลเป็นได้ จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ และหมั่นสังเกตว่าตนเองมีอาการของโรคหรือไม่ อาการตากุ้งยิงสามารถแบ่งได้ 3 ชนิด คือ
-
ตากุ้งยิงภายนอก (External Hordeolum)
ตากุ้งยิงภายนอก หรือ ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด จะมีอาการแรกเริ่มคือ รู้สึกคันบริเวณเปลือกตา อาจมีการขยี้ตาอยู่บ่อยครั้งเพราะอาการคัน บริเวณขอบตาเริ่มมีรอยแดงขึ้น ต่อมาจะมีอาการบวมที่ขอบตา หากสัมผัสจะรู้สึกเจ็บ จากนั้นรอยแดงบริเวณเปลือกตาจะชัดเจนมากขึ้น กลายเป็นตุ่มหนองบริเวณผิวหนังโคนขนตา มีอาการอักเสบและบวมแดง สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ชัดเจน
-
ตากุ้งยิงภายใน (Internal Hordeolum)
ตากุ้งยิงภายใน หรือ ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน จะมีอาการเริ่มต้นคล้ายกันกับตากุ้งยิงภายนอก คือ มีอาการคันแล้วมีรอยแดงเกิดขึ้น จากนั้นจะเริ่มปวดบวมบริเวณขอบตา มีตุ่มหนองเกิดขึ้น แต่ต่างกันตรงที่ตากุ้งยิงภายในมักจะมีขนาดใหญ่กว่า แต่เจ็บน้อยกว่า สามารถมองเห็นหัวหนองได้จากภายใน โดยต้องพลิกเปลือกตาดูด้านในจึงจะมองเห็นชัดเจน
-
ตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ (Chalazion)
ตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ หรือ ตากุ้งยิงเรื้อรัง ตากุ้งยิงชนิดนี้จะไม่มีอาการเจ็บปวดเหมือนตากุ้งยิงทั่วไป มีเพียงก้อนตุ่มกลมๆ ที่ค่อนข้างแข็งอยู่บริเวณเปลือกตา ส่วนมากจะเกิดบริเวณที่ด้านบนเปลือกตามากกว่าด้านล่าง หากเป็นนานๆ แล้วไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลเสียต่อการมองเห็น และทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้