โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) คือ โรคติดเชื้อร้ายแรงที่สามารถก่อโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หนู โค กระบือ ลิง ม้า กระรอก หรือค้างคาว ส่วนใหญ่มีสุนัขเป็นพาหะพิษสุนัขบ้า การติดเชื้อจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เส้นประสาทและสมองทำงานผิดปกติ ผู้ติดเชื้อมักจะเสียชีวิต ปัจจุบันยังไม่มียารักษา มีเพียงวัคซีนพิษสุนัขบ้าเท่านั้น โรคนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia)
สารบัญเนื้อหา
สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า
สาเหตุของโรคเกิดจากไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) ซึ่งเป็น RNA Virus เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในสกุล Lyssavirus วงศ์ Rhabdoviridae ซึ่งถูกจำแนกให้อยู่ใน genotype 1 serotype 1 ของสกุล Lyssavirus แต่ละสายพันธุ์จะอยู่ในสัตว์รังโรคที่จำเพาะ ถึงแม้จะสามารถก่อให้เกิดโรคในสัตว์อื่นๆ แต่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพราะไม่สามารถปรับตัว มีบ้างที่สามารถปรับตัวให้สามารถอยู่ในสัตว์ชนิดอื่นนอกจากสัตว์จำเพาะได้
เชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่เชื้อไปยังคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ได้ จากการติดเชื้อจากน้ำลายหรือเนื้อเยื่อประสาทของสัตว์ที่มีไวรัสพิษสุนัขบ้าอยู่ โดยมากผู้ติดเชื้อจะติดเชื้อจากการได้รับบาดแผล เช่น การกัด การข่วน หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลโดยสัตว์ที่ติดเชื้อ ทำให้เป็นพิษสุนัขบ้าได้
อาการ
หลังจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะมีระยะฟักตัวของโรคโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน จึงจะแสดงอาการของโรคขึ้น บางรายอาจใช้เวลาสั้นเพียง 5 วัน หรือใช้เวลานานเกินกว่า 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดของบาดแผล จำนวนแผล ความลึกของบาดแผล ตำแหน่งที่ถูกกัด และระยะทางจากบาดแผลไปยังสมอง เช่น ใบหน้า แขน ขา มือ ลักษณะของเสื้อผ้าที่สวมใส่ในจุดที่ได้รับแผลก็ส่งผลต่อจำนวนเชื้อที่ได้รับเช่นกัน หากรีบล้างแผลทันทีที่ได้รับแผลจะมีช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก
อาการของโรคสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
-
ระยะเริ่มต้นก่อนเข้าสู่สมอง (Prodrome)
ผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีอาการเป็นไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย และนอนไม่หลับ บางรายอาจมีอาการเจ็บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันมากบริเวณที่ถูกกัด ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-10 วัน
-
ระยะที่มีอาการทางสมอง (Acute neurologic phase)
ผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีอาการสับสนวุ่นวาย รู้สึกกระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงมีอาการกลัวกลัวน้ำ และจะมีอาการหนักขึ้นหากได้ยินเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการชัก และเป็นอัมพาตได้ ระยะนี้จะมีอาการประมาณ 2-7 วัน
-
ระยะสุดท้าย (Coma)
ผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำมากหรือสูงมาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิต
วิธีการป้องกัน
พิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา จึงควรป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ วิธีการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถทำได้ดังนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์เลี้ยง
- สังเกตอาการสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ และระวังไม่ให้สัมผัสกับสัตว์ป่า
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์จรจัด รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ป่วยหรือมีท่าทางผิดปกติ
- หากต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของพิษสุนัขบ้าให้ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้า
เรียบเรียงข้อมูลจาก
- The Center for Food Security and Public Health (1)
- The Center for Food Security and Public Health (2)
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกันตัง