โรควัณโรค (Tuberculosis) หรือ ทีบี (TB) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำให้เกิดโรคได้ในอวัยวะทุกส่วนของทั่วร่างกาย ตั้งแต่ผิวหนังภายนอกไปจนถึงระบบประสาทและสมอง ส่วนมากมักพบที่ปอด วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สำคัญซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก
สารบัญเนื้อหา
สาเหตุของโรควัณโรค
วัณโรค เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม (Mycobacterium) หลายชนิด ชนิดที่พบมากในประเทศไทยคือ ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) และไมโครแบคทีเรียม โบวิส (Mycobacterium bovis) เชื้อทั้งสองชนิดนี้เป็นสปีชีส์หลักของ Mycobacterium tuberculosis complex
การแพร่เชื้อ
โรควัณโรคสามารถติดต่อได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ แพร่ผ่านทางละอองฝอย (Airbone) จากการพูดคุย หัวเราะ ไอ จาม รวมถึงจากเสมหะของผู้ป่วย ผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยหากหายใจรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้โดยที่ไม่รู้ตัวก็อาจเป็นวัณโรคได้ สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อวัณโรค 10% มีโอกาสที่จะป่วยเป็นวัณโรค ส่วนอีก 90% จะมีภูมิคุ้มกันดีพอที่จะไม่ป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งจะถือเป็นวัณโรคระยะแฝง ไม่มีการแสดงอาการใดๆ
สำหรับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากได้รับเชื้อวัณโรคจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
อาการ
ผู้ที่ป่วยด้วยวัณโรคจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ไอติดต่อกันเป็นานเกิน 2 สัปาดห์ ไอมีเสมหะหรืออาจไอเป็นเลือด
- มีไข้ อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
- เหนื่อง่าย และมีอาการเจ็บหน้าอก
วิธีการป้องกัน
การติดเชื้อวัณโรคสามารถเกิดขึ้นได้จากการสูดละอองที่มีเชื้อวัณโรค แต่หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีก็จะสามารถป้องกันการเป็นโรควัณโรคได้ ดังนั้นจึงควรดูแลตัวเองด้วยวิธีสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ส่วนวิธีการป้องกันอื่นๆ มีดังนี้
- ฉีดวัคซีนวัณโรค (BCG) เพื่อป้องกันโรควัณโรค วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 7 ปี
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
- สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่แออัด
- หมั่นตรวจร่างกายอยู่อยู่เสมอด้วยการเอ็กซเรย์ปอด (Chest X-ray) อย่างน้อยปีละครั้ง
- เมื่อพบว่ามีอาการเสี่ยง เช่น มีอาการไอติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ควรรีบพบแพทย์ทันที
วิธีการรักษา
การรักษาวัณโรคในสูตรยาระยะสั้นจะมีวิธีรักษา 2 ระยะ คือ
-
ระยะเข้มข้น (Intensive phase)
ระยะเข้มข้นเป็นระยะที่ใช้ยารักษาวัณโรคหลายตัวในการรักษา เพื่อจัดการฆ่าเชื้อวัณโรคชนิดต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ปริมาณเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อปริมาณเชื้อในร่างกายมีปริมาณลดต่ำลง โอกาสที่จะมีเชื้อดื้อยาอยู่ในร่างกายก็จะต่ำลงด้วย หากจำนวนเชื้อลดต่ำลงมากแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาหลายๆ ตัวอีก สามารถรักษาต่อด้วยระยะต่อเนื่องต่อไป
-
ระยะต่อเนื่อง (Continuation phase)
ระยะต่อเนื่องเป็นการรักษาต่อจากระยะเข้มข้น การรักษาในระยะนี้จะมีการให้ยาเพียง 2 ตัว โดยใช้เวลา 4-7 เดือน จนครบสูตรยาที่กำหนด การลดจำนวนยาในระยะนี้จะช่วยลดผลข้างเคียงจากยาได้ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
เรียบเรียงข้อมูลจาก
- วงการแพทย์ – The Medical News (1)
- วงการแพทย์ – The Medical News (2)
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน – Paolo Hospital
- สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – National Vaccine Institute (NVI)
- ระบบฐานข้อมูลภาคนิพนธ์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น