อาการนิ้วซ้น (Finger Dislocation หรือ Jammed Finger) เป็นอาการผิดปกติของที่เกิดขึ้นกับนิ้ว ซึ่งเกิดกับนิ้วมือหรือนิ้วเท้าก็ได้ ผู้ที่เป็นนิ้วซ้นจะมีอาการปวด บวม มีรอยฟกช้ำบริเวณข้อนิ้ว อาจเกิดจากการหกล้มหรือกระแทกสิ่งของต่างๆ อย่างรุนแรง จนเกิดการบาดเจ็บของนิ้วมือขึ้น
สารบัญเนื้อหา
รักษานิ้วซ้นด้วยหลัก POLICE Principle
ผู้ที่มีอาการนิ้วซ้นอาจจะรู้สึกเจ็บบวดแผลและกังวลใจว่านิ้วซ้นทำไงดี? สำหรับวิธีในการรักษานั้นสามารถทำได้โดยการใช้หลัก POLICE (P: Protection, OL: Optimal Loading, I: Ice, C: Compression and E: Elevation)
Protection – การปกป้อง
ในช่วงวันแรกๆ หลังจากที่เกิดอาการนิ้วซ้นขึ้น ควรหยุดพักร่างกายในส่วนที่มีอาการเจ็บอย่างน้อย 2-3 วัน โดยลดการเคลื่อนไหวลง หรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้บาดเจ็บมากยิ่งขึ้น อาจใช้การดามนิ้วซ้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นแท่ง โดยดามนิ้วที่ซ้นเข้ากับนิ้วอื่นๆ แล้วพันไว้ด้วยเทปสำหรับพันแผล ในกรณีที่นิ้วเท้าซ้นอาจใช้ไม้ค้ำเพื่อช่วยเหลือเวลาเดิน
Optimum Loading – หมั่นขยับนิ้วให้บ่อยเท่าที่จะทำได้
หลังจากการปกป้องนิ้ว (Protection) ด้วยการพักการเคลื่อนไหวของนิ้วที่ซ้น 2-3 วัน ให้กลับมาขยับร่างกายโดยเฉพาะในส่วนของนิ้วที่ซ้นให้มากขึ้น โดยขยับเบาๆ อย่างนุ่มนวลและระมัดระวังบ่อยครั้ง วิธีนี้จะเป็นผลดีต่อการรักษานิ้วซ้น ถือเป็นการออกกำลังของกล้ามเนื้ออย่างหนึ่งของนิ้ว ป้องกันปัญหากล้ามเนื้อลีบหรือตึงจากการไม่ได้ขยับนิ้วเป็นเวลานาน
Ice – ประคบนิ้วซ้นด้วยน้ำแข็ง
น้ำแข็งสามารถช่วยลดอาการปวดและบวมบริเวณที่บาดเจ็บได้ วิธีการรักษาคือใช้ผ้าขนหนูสะอาดๆ ห่อน้ำแข็งเอาไว้ นำไปประคบเบาๆ บริเวณที่มีอาการบาดเจ็บ ครั้งละประมาณ 10-15 นาที หากมีอาการปวดมากๆ ควรประคบน้ำแข็งอีกบ่อยครั้งขึ้นเพื่อบรรเทาอาการ
Compression – พันแผลด้วยผ้ายืด
ใช้ผ้าพันแผลแบบผ้ายืดพันรอบๆ บริเวณที่มีอาการบาดเจ็บไว้เพื่อป้องกันแผลบวม ควรพันแผลให้มีความแน่นในระดับที่พอดีและรู้สึกสบาย ไม่ควรพันผ้าแน่นจนเกินไปเพราะจะส่งผลเสียต่อการไหลเวียนของเลือด อีกทั้งยังทำให้แผลหายช้าได้
Elevation – ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงๆ
ขณะที่นั่งหรือนอน ควรยกส่วนที่มีอาการนิ้วซ้นให้สูงขึ้น โดยยกให้สูงกว่าระดับหัวใจของตนเอง เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือด และลดอาการปวดบวมของแผลได้
การรักษานิ้วซ้นด้วยวิธีอื่นๆ
วิธีรักษานิ้วซ้นด้วยตนเองมีอีกวิธีหนึ่งคือ ใช้หลักการ RICE (R: Rest, I: Ice, C: Compression and E: Elevation) หลักการนี้จะใกล้เคียงกันกับหลัก POLICE ต่างกันตรงที่ RICE ไม่มีการแนะนำให้ขยับร่างกายในส่วนที่บาดเจ็บ จึงอาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาของกล้ามเนื้อเนื่องจากไม่ได้เคลื่อนไหวนานเกินไป แผลจึงมีโอกาสที่หายช้า จึงไม่แนะนำการรักษานี้เท่าใดนัก หากต้องการรักษานิ้วซ้นควรใช้หลัก POLICE มากกว่า