การใช้ชีวิตประจำวันของคนเรานั้นมีสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถขาดได้เลยนั่นก็คือ อาหาร การรับประทานอาหารจะช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานในการหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เราสามารถเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรงได้อย่างเต็มที่ เมื่อคนเรารับประทานอาหารเข้าไปแล้ว เราก็จำเป็นต้องขับถ่ายเพื่อนำของเสียออกมาจากร่างกายด้วย
การขับถ่ายเป็นประจำทุกวันจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาก แต่ทว่าบางคนกลับเกิดปัญหาในการขับถ่าย มีการขับถ่ายอุจจาระยาก ไม่สามารถขับถ่ายได้อย่างสม่ำเสมอ หรือมีการขับถ่ายอุจจาระได้น้อยครั้งกว่าปกติ ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า อาการท้องผูก ผู้มีอาการเหล่านี้บางครั้งจึงอาจไม่อยากเข้าห้องน้ำเนื่องจากใช้เวลาขับถ่ายนานเกินไป ซึ่งสามารถแก้ไขได้หากเรารู้จักหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นสาเหตุ อาการท้องผูกเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
สารบัญเนื้อหา
สาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
การเกิดอาการท้องผูกส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดจากการพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา โดยคิดเป็นประมาณ 50% ผู้ที่มีอาการท้องผูกมักจะมีสาเหตุจากพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้
-
การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
การรับประทานอาหารจะช่วยให้ร่างกายของคนเราได้รับพลังงาน ส่งผลต่อการทำงานในส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่หากเรารับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไปอยู่เป็นประจำแล้วล่ะก็ จะส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบขับถ่าย การขาดกากใยอาหารจะทำให้การเคลื่อนตัวของอุจจาระในลำไส้เป็นไปได้ช้าลง ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานลำบากมากขึ้น จนทำให้เราเกิดอาการท้องผูก
-
ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
การดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน จะส่งผลต่อการทำงานของส่วนต่างๆ ในร่างกาย ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ผิวแห้ง และทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้งและแข็ง ส่งผลให้การขับถ่ายเป็นไปได้ยาก อาจเกิดการสะสมของของเสียในลำไส้ และทำให้ท้องผูก
-
ขาดการออกกำลังกาย
การขาดการออกกำลังกาย หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยมากเกินไปในแต่ละวัน จะส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยเฉพาะส่วนของกล้ามเนื้อบริเวณลำไส้ ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย เมื่อขาดการเคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำไส้ขาดการกระตุ้น จึงเป็นผลให้การทำงานของระบบขับถ่ายแย่ลง
-
การกลั้นอุจจาระบ่อยๆ
การกลั้นถ่ายอุจจาระเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดการสะสมของอุจจาระในลำไส้ใหญ่ ก้อนอุจจาระจะมีลักษณะที่แข็งมากขึ้น จนทำให้การขับถ่ายเป็นไปได้ยาก บางครั้งอาจเกิดแผลที่บริเวณทวารหนัก และมีการรับรู้ของผนังลำไส้ลดลง จึงทำให้มีความต้องการขับถ่ายลดน้อยลง จึงทำให้เกิดอาการท้องผูกขึ้น
สาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายทำงานไม่สอดคล้องกัน
การเกิดปัญหาในการขับถ่ายเมื่อพยายามเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานานแต่ไม่สามารถขับถ่ายได้ หรือขับถ่ายได้อุจจาระไม่สุด อาจเกิดได้จากการออกแรงเบ่งไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักที่ไม่ยอมคลายตัว สาเหตุนี้สามารถพบได้ประมาณ 30% ในผู้ที่มีอาการท้องผูก
เมื่อมีการทำงานไม่ประสานกันของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย คือ ลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนักทำงานไม่สอดคล้องกันจนเกิดปัญหาในการเบ่งอุจจาระ (Anorectal Dysfunction หรือ Anorectal Dyssynergia) โดยเมื่อทำการเบ่งถ่ายแล้วหูรูดทวารหนักมีการหดตัวเกิดขึ้น ไม่ยอมคลายตัว ทำให้อุจจาระไม่สามารถเคลื่อนตัวออกมาได้ จึงทำให้ขับถ่ายได้ยาก
สาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดท้องผูก
-
มีภาวะลำไส้ใหญ่เฉื่อย
ภาวะลำไส้ใหญ่เฉื่อย (Colonic Inertia) เป็นภาวะที่ลำไส้ใหญ่มีการทำงานผิดปกติ โดยลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวน้อยลงจนทำให้อุจจาระมีการเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ใหญ่ได้ช้า ส่งผลให้ขับถ่ายยากจนทำให้เกิดอาการท้องผูก แต่การท้องผูกจากสาเหตุนี้ถือว่าพบได้น้อยมาก พบเพียง 5-6% เท่านั้น
-
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย และอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่ายได้ จึงทำให้เกิดปัญหาการขับถ่ายได้ยาก มีอาการท้องผูก ตัวอย่างยาที่สามารถทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ เช่น ยารักษาโรคทางจิตเวช ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิต ยาลดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อ ยาลดกรดบางชนิดที่มีส่วนผสมของแคลเซียมหรืออะลูมิเนียม ยาต้านพาร์กินสัน และยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตรียรอยด์ เป็นต้น
การเกิดอาการท้องผูกจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา ทำให้เราไม่สามารถขับถ่ายเพื่อนำของเสียจากร่างกายออกมาได้ หากปล่อยให้มีอาการท้องผูกอยู่เป็นประจำอาจส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้รู้สึกเครียดและเบื่ออาหาร รู้สึกเจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ปวดหัว ปวดท้อง ปวดหลัง และยังทำให้เกิดโรคริดสีดวงได้อีกด้วย วิธีแก้ไขอาการท้องผูกเบื้องต้นคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการท้องถูกให้ดีขึ้นได้อย่างง่ายดาย กรณีที่ยังไม่ดีขึ้นอาจพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพียงเท่านี้เราก็สามารถกลับมาขับถ่ายได้ปกติตามธรรมชาติแล้ว