ระบบสุขภาพคือ ระบบความสัมพันธ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กร ผู้คน และการกระทำร่วมกันโดยมีเจตนาในการส่งเสริมฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย ป้องกันโรค และรักษาสุขภาพ เพื่อผลในเชิงบวกต่อสุขภาพของประชาชนในแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน หรือระดับประเทศ ขึ้นอยู่กับการกำหนดขอบเขตของระบบสุขภาพนั้นๆ ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีทั้งทางสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ ป้องกันอันตรายจากโรคภัยต่างๆ
สารบัญเนื้อหา
วัตถุประสงค์หลักของระบบสุขภาพ
ระบบสุขภาพจะมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ข้อ คือ
- ช่วยให้สุขภาพของประชากรในขอบเขตการดูแลดีขึ้น
- ตอบสนองต่อความคาดหวังด้านสุขภาพของประชาชน
- คุ้มครองดูแลและช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของประชาชนที่เกิดจากการเจ็บป่วย
- มีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน
องค์ประกอบพื้นฐานของระบบสุขภาพ
การที่ระบบสุขภาพจะสามารถดำเนินการต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบรวมกันหลายอย่าง โดยองค์ประกอบพื้นฐานหรือระบบย่อยที่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบสุขภาพมีอยู่ 6 ข้อ (The Six Building Blocks of Health Systems) ได้แก่
-
การให้บริการด้านสุขภาพ
การให้บริการด้านสุขภาพ (Health Services) คือ การบริการที่สามารถดำเนินการตามหลักวิธีทางสุขภาพที่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีคุณภาพดี เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการบริการได้รับการบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยผู้รับบริการจะต้องเข้าถึงบริการสุขภาพได้โดยปราศจากอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อุปสรรคการเดินทาง ค่าใช้จ่าย ภาษา หรือวัฒนธรรม กระบวนการรักษาจะต้องมีขั้นตอนที่เป็นระบบระเบียบ สามารถประสานงานกันได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับบริการได้อย่างเหมาะสมรวดเร็วและไม่เกิดปัญหาติดขัด การให้บริการสุขภาพจะมีการใช้ทรัพยากรตามความจำเป็น หลีกเลี่ยงความสิ้นเปลืองโดยใช้ทรัพยากรในการรักษาอย่างคุ้มค่าที่สุด
-
บุคลากรผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
บุคลากรผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (Health Workforce) คือ มีบุคลากรด้านสุขภาพที่คอยทำหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างกระตือรือร้น มีความซื่อสัตย์ยุติธรรมต่อหน้าที่ และมีประสิทธิภาพในการทำงาน โดยมุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ทั้งข้อจำกัดในด้านเหตุการณ์ สถานที่ และทรัพยากรที่มีอยู่ จำนวนของบุคลากรจะต้องมีมากเพียงพอต่อความต้องการในการรับบริการสุขภาพของประชาชน และต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้านสุขภาพของตนเองอย่างเหมาสม สามารถให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ
-
ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับสุขภาพ
ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับสุขภาพ (Health Information Systems) คือ ระบบที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพ มีการจดบันทึก ประเมินผล จัดเวชระเบียน วิเคราะห์ วิจัย จัดการข่าวสารสุขภาพ และแจกจ่ายข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่บุคลากรและประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ผู้รับสามารถมั่นใจและเชื่อถือในข้อมูลได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารข้อมูลสุขภาพและการจัดการ ช่วยให้สามารถประเมินผลและปรับเปลี่ยนการให้บริการให้ดีและเหมาะสมยิ่งขึ้นได้
-
การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ (Access to Essential Medicines) คือ การที่บุคลากรผู้ให้บริการด้านสุขภาพและผู้รับบริการทั่วไปสามารถเข้าถึงยารักษาโรค วัคซีน และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างเหมาะสม โดยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านั้นจะต้องได้คุณภาพ มีมาตรฐาน ปลอดภัย มีรายละเอียดข้อมูลวิธีใช้ที่ถูกต้องชัดเจน และมีการกำหนดราคาไม่ให้สูงมากเกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะต้องมีการควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้ให้ดี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลรักษาสุขภาพ
-
ระบบการเงินการคลังสุขภาพ
ระบบการเงินการคลังสุขภาพ (Health Systems Financing) คือ การจัดการทางการเงินเพื่อบริหารงานด้านสุขภาพจะต้องมีเงินทุนมากเพียงพอ เพื่อให้บุคลากรผู้ทำหน้าที่ให้บริการสุขภาพมีงบประมาณมากเพียงพอที่จะสามารถจัดซื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนผู้เข้ารับบริการ เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับความจำเป็นทางด้านสุขภาพของตนเอง การบริหารจัดการด้านการเงินที่ดีจะช่วยให้สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในการรับบริการได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ไม่สร้างภาระที่มากเกินไปแก่ผู้รับบริการ ทำให้ผู้รับบริการทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้โดยไม่มีอุปสรรคปัญหาด้านค่าใช้จ่าย
-
ภาวะผู้นำและการอภิบาล
ภาวะผู้นำและการอภิบาล (Leadership and Governance) คือ ต้องมีการกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านสุขภาพ มีการวางกฎระเบียบในการทำงาน มีผู้ดูแลที่คอยควบคุมการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง โปร่งใส มีความเป็นธรรมต่อบุคลากรด้านสุขภาพ และต่อผู้เข้ารับบริการทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะมีการบริหารงานโดยมุ่งเน้นในการดูแลและจัดการกับปัญหาสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนสามารถมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจดีอย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง
- สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) – National Health Commission Office (NHCO)
- สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) – Health Systems Research Institute (HSRI) (1)
- สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) – Health Systems Research Institute (HSRI) (2)
- กระทรวงสาธารณสุข – Ministry of Public Health