หลายครั้งที่สภาพแวดล้อมรอบข้างของเราเปลี่ยนแปลงไป มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจากอากาศร้อนเป็นอากาศหนาว หรือเวลาที่กำลังรู้สึกหวาดกลัว ก็มักจะทำให้บริเวณผิวหนังของเราเกิดตุ่มเล็กๆ ตะปุ่มตะป่ำขึ้นตามร่างกาย ทั้งบริเวณแขนและขาของคนเราโดยที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า อาการขนลุก
เหตุผลที่ทำให้คนเราเกิดอาการขนลุก เกิดจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่เรียกว่า ระบบประสาทซิมพาธีติก (Sympathetic nervous system) เมื่อเซลล์ประสาทตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระตุ้น แล้วร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือ อิพิเนฟริน (Epinephrine) ฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่ถูกผลิตขึ้นมาจากต่อมหมวกไต สารอะดรีนาลีนจะไปจับกับตัวรับที่มีชื่อว่า ตัวรับสัญญาณอัลฟาอะดรีเนอร์จิก (Alpha adrenergic receptors) ที่มีหน้าที่ในการทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหูรูดของอวัยวะต่างๆ เช่น หูรูดหลอดอาหาร หูรูดกระเพาะอาหาร หูรูดกระเพาะปัสสาวะ หูรูดทวารหนัก กล้ามเนื้อของหลอดเลือด และทำให้ม่านตาขยาย ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อผิวหนังของคนเรา เมื่อกล้ามเนื้อผิวหนังรอบรูขุมขนเกิดการหดตัว จะทำให้ขนต่างๆ ที่อยู่ตามผิวหนังตั้งตัวตรงขึ้น ผิวจึงมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ เต็มไปหมดนั่นเอง
อาการเหล่านี้ถือเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น สภาพอากาศที่หนาวเย็น เพื่อช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ทำให้อากาศเย็นเข้าไปอยู่ที่บริเวณขนแทนที่จะสัมผัสกับผิวหนังของคนเราโดยตรง หรือเมื่อร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางอารมณ์หรืออาการทางร่ายกาย เช่น ความหวาดกลัว หรือปวดท้องต้องการถ่ายหนัก ขนของเราก็จะลุกชูชันขึ้นมาได้เช่นกัน