ในแต่วันที่มีทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน เคยนึกสงสัยกันมั้ยว่าเหตุใดคนเราถึงตื่นตอนเวลากลางวัน แต่พอถึงเวลากลางคืนนั้น ร่างกายก็มักจะเริ่มรู้สึกต้องการการพักผ่อน อยากนอนหลับขึ้นมาทันที ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะระบบการทำงานของคนเรามีสิ่งที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) ปัจจัยของร่างกายที่ส่งผลต่อนาฬิกาชีวิตของเราก็คือ การหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin Secretion)
ฮอร์โมนเมลาโทนิน คือ ฮอร์โมนการนอนหลับ
ฮอร์โมนเมลาโทนิน คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ (Melatonin) หรือมีชื่อเรียกเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า Dracula of hormones ฮอร์โมนเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนสำคัญของร่างกายที่ถูกผลิตขึ้นมาจากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ต่อมไร้ท่อบริเวณกลางสมอง มีหน้าที่สำคัญในการช่วยควบคุมการนอนหลับและการตื่นของคนเรา เปรียบเสมือนกับนาฬิกาชีวภาพ ช่วยดูแลให้เราสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นระบบระเบียบ สร้างสมดุลในการใช้ชีวิตและทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น
ร่างกายผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินได้อย่างไร
ร่างกายของคนเราผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินโดยต่อมไพเนียล ซึ่งจะทำฮอร์โมนเมลาโทนินจะถูกหลั่งออกเมื่ออยู่ในที่มืดหรือที่มีแสงน้อย ปกติแล้วคนเราจะสามารถรับรู้แสงสว่างได้โดยมีเลนส์ตา (Lens) ทำหน้าที่ในการรับแสง หากมีแสงสว่างผ่านเข้าสู่เลนส์ตาของเรา ก็จะมีการส่งสัญญาณจากส่วนต่างๆ ของจอประสาทตา แล้วส่งสัญญาณประสาทไปที่ต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นตัวกลางที่คอยรับรู้ช่วงเวลากลางวันและกลางคืน การหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินขึ้นอยู่กับว่ามีแสงมากน้อยเพียงใด หากมีแสงสว่างมาก ฮอร์โมนเมลาโทนินก็จะถูกหลั่งได้น้อยลง แต่ถ้าอยู่ในที่ที่แสงสว่างน้อยหรือที่มืด ร่างกายก็จะหลั่งฮฮร์โมนเมลาโทนินได้ดีขึ้น
การผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินสำหรับคนทั่วไปในวัยเจริญพันธุ์ ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนนี้ขึ้นไปเวลากลางคืน โดยเริ่มผลิตตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 – 22.00 น. และมีการผลิตฮอร์โมนมากขึ้นสูงสุดในช่วง 02.00 – 04.00 น. และเมื่อเวลาประมาณ 07.00 – 08.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหยุดหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมา
ฮอร์โมนเมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกายของคนเรา โดยนอกจากจะช่วยในการปรับเวลาของร่างกายให้มีการหลับเป็นเวลาแล้ว ยังมีประโยชน์ในการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ และช่วยชะลอวัยทำให้แก่ได้ช้าลง ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับหากได้รับฮอร์โมนเมลาโทนินจะช่วยทำให้การนอนหลับดีขึ้นได้
ทั้งนี้ แม้ว่าฮอร์โมนเมลาโทนินจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาก แต่ก็เป็นฮอร์โมนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอารมณ์ซึมเศร้าด้วย ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีเมลาโทนินมากกว่าคนทั่วไป ส่วนผู้ที่อยู่ในประเทศที่มีฤดูหนาวยาวนานที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดดมากนัก ก็มักจะมีการหลั่งเมลาโทนินมากกว่าคนปกติ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น