การฉีดวัคซีนคือหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค เป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสามารถสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ตามประเภทของวัคซีนที่ได้รับ แตกต่างจากการใช้ยารักษาโรค ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจำเป็นต้องมีอาการของโรคก่อนถึงจะทำการใช้ยารักษา การป้องกันตนเองจึงถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ เช่น เด็กๆ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรได้รับวัคซีนพื้นฐานอย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีต่อไป
สารบัญเนื้อหา
วัคซีนคืออะไร
วัคซีน (Vaccine) คือ สารชนิดหนึ่งที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย ผลิตขึ้นจากเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่มีสภาพอ่อนแอ หรือเชื้อที่ตายแล้ว ซึ่งไม่สามารถก่อโรคได้ เมื่อฉีดสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตอบสนองต่อเชื้อโรค แล้วสร้างภูมิคุ้มกันโรคนั้นขึ้นมา ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดเดิมในครั้งต่อไป หรือหากได้รับเชื้อโรคมาอีกครั้ง ร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอจะต่อสู้กับโรค ทำให้อาการของโรคไม่รุนแรง และสามารถหายเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว
ประเภทของวัคซีนตามลักษณะการผลิต
-
วัคซีนเชื้อตาย (Killed vaccine)
วัคซีนเชื้อตาย คือ วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัว (whole cell vaccine) หรือบางส่วนของเชื้อโรค (subunit vaccine) เป็นเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรืออาจใช้เฉพาะโปรตีนส่วนประกอบของเชื้อโรคที่ผลิตขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยหลักการทางพันธุวิศวกรรม (genetic engineering)
- วัคซีนที่ผลิตโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัว เช่น วัคซีนไอกรนชนิดทั้งเซลล์ วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนอหิวาตกโรคชนิดฉีด วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตาย และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด
- วัคซีนที่ผลิตโดยใช้บางส่วนของเชื้อโรค เช่น วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนฮิบ วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนไทฟอยด์ชนิดฉีด และวัคซีนนิวโมคอคคัส
-
วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live attenuated vaccine)
วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ คือ วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคที่อ่อนแอจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ แต่สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย วัคซีนในกลุ่มนี้ได้แก่ วัคซีนวัณโรค วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนไทฟอยด์ชนิดรับประทาน วัคซีนโรต้า และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก
-
วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (Toxoid)
วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ คือ วัคซีนที่ผลิตโดยการนำพิษของเชื้อโรคที่เป็นส่วนสำคัญในการก่อโรคมาทำให้หมดพิษ แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ ใช้สำหรับโรคติดเชื้อที่เกิดจากพิษของเชื้อโรคนั้นๆ เช่น วัคซีนคอตีบ และวัคซีนบาดทะยัก
วัคซีนตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันประเทศไทย
-
วัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนบังคับ (Compulsory Vaccine) (EPI)
วัคซีนพื้นฐานพื้นฐานหรือวัคซีนบังคับ คือ วัคซีนที่อยู่ในแผนสร้างเสริมสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยวัคซีน 8 ชนิด ได้แก่ วัคซีนวัณโรค (BCG) วัคซีนตับอักเสบบี (HB) วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB) วัคซีนโปลิโอ (OPV) วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) และวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (dT)
-
วัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือก (Optional Vaccine)
วัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือก คือ วัคซีนที่มีประโยชน์ในการป้องกันโรค แต่โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเหล่านี้มีความสำคัญด้านสาธารณสุขน้อยกว่าการได้รับวัคซีนพื้นฐาน และมีราคาสูง เป็นวัคซีนที่สามารถเลือกฉีดหรือไม่ก็ได้ ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนประเภทนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง
-
วัคซีนใช้กรณีพิเศษ (vaccines in special circumstances)
วัคซีนใช้ในกรณีพิเศษ คือ วัคซีนที่มีความชัดเจนการใช้เป็นพิเศษ โดยอาจจะใช้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง ป้องกันโรคที่เป็นแล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หรือใช้ในผู้ที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เป็นต้น
-
วัคซีนที่อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา (investigational vaccines)
วัคซีนที่อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา คือ วัคซีนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการป้องกันโรคที่เป็นปัญหาในหลายๆ ประเทศ และยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยค้นคว้า การผลิต การพัฒนา หรือยังอยู่ระหว่างการทดลองในอาสาสมัครเพื่อพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อนำมาใช้ในอนาคต
การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพของคนเรา หากไม่มีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นการได้รับวัคซีนพื้นฐานจึงถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยได้เป็นอย่างดี ช่วยปกป้องเราจากโรคติดต่อต่างๆ รวมถึงโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้มีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
เรียบเรียงข้อมูลจาก
- สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – National Vaccine Institute (NVI)
- สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – Guruvaccince
- สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย – PIDST
- โรงพยาบาลขอนแก่น ราม – Khonkaen Ram Hospital
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
- โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงราย – Bankok Hospital Chiang Rai