โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A; HAV) คือ โรคตับอักเสบนิดหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบที่บริเวณตับ โดยทั่วไปอาการของโรคไม่รุนแรงมากนัก และไม่ก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง สามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่ถูกสุขอนามัยและมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ นอกจากนี้โรคไวรัสตับอักเสบประเภทอื่นๆ ก็สามารถก่อให้เกิดอาการตับอักเสบได้เช่นกัน ปัจจุบันสามารถป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดนี้ได้ด้วยวัคซีน
สารบัญเนื้อหา
สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบเอ
ไวรัสตับอักเสบเอ มีสาเหตุเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (HAV) ซึ่งเป็น RNA Virus ในตระกูล Picornaviridae สกุล Hepatovirus เป็นไวรัสที่ค่อนข้างทนต่อสภาพแวดล้อม เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเพิ่มจำนวนในเซลล์เยื่อบุผิวในลำไส้ แล้วจึงเข้าสู้กระแสเลือดและไปก่อนเชื้อในตับ ส่งผลให้มีอาการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้ตับทำงานผิดปกติ และเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลัน
การติดต่อ
โรคไวรัสตับอักเสบสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางอาหารและน้ำดื่ม จากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโดยไม่ผ่านการปรุงสุก ผักและผลไม้ที่ไม่ได้ล้าง หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด การปนเปื้อนเชื้อจากการสัมผัสกับเชื้อแล้วไม่ได้ทำความสะอาดมือให้เรียบร้อย เมื่อใช้มือที่มีเชื้อไวรัสหยิบจับอาหารหรือสิ่งของเข้าสู่ปาก ก็ทำให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้
อาการ
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับอักเสบเอจะเกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้มีการทำงานที่ผิดปกติบริเวณตับ ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการใดเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ติดเชื้อ ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี ส่วนใหญ่จะไม่มีการแสดงอาการ ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก กว่าจะทราบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอก็อาจเกิดอาการหนักแล้ว ส่วนวัยผู้ใหญ่จะการแสดงอาการตับอักเสบบ่อยและรุนแรงกว่าในวัยเด็ก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อจะมีระยะฟักตัวหลังได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงจะการแสดงอาการ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจะมีอาการต่างๆ ที่สามารถพบได้ดังนี้
- มีไข้ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดหัว
- คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด
- ปวดท้อง จุกท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
- ตาเหลือง ตัวเหลือง
- ผื่นผิวหนัง ผดผื่นคัน และลมพิษ
วิธีป้องกัน
การป้องกันไวรัสตับอักเสบเอสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ผู้ที่ต้องการรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอควรตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบดูก่อนว่าเคยมีการติดเชื้อไวรัสนี้มาก่อนหรือไม่ หากไม่เคยเป็นโรคตับอักเสบมาก่อนจึงจะรับวัคซีนได้ และสามารถฉีดได้ทุกช่วงอายุ กรณีเด็กเล็กจะรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป สำหรับวิธีอื่นๆ ในการป้องกันโรคนอกจากการฉีดวัคซีน มีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ
- รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกอยู่เสมอ หากเป็นผักและผลไม้ให้ล้างก่อนรับประทาน และดื่มน้ำที่สะอาด
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
วิธีรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาที่จะรักษาไวรัสตับอักเสบเอให้หายขาดได้ แต่โดยทั่วไปผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสนี้ด้วยภูมิคุ้มกันของตนเองภายในระยะไม่กี่เดือน การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบจะรักษาตามอาการดังนี้
- อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผู้ป่วยมีอาการนี้จะรักษาด้วยการให้พักผ่อนอย่างเต็มที่
- อาการปวดเมื่อยหรือปวดหัว หากผู้ป่วยมีอาการนี้จะให้รักษาโดยการรับประทานยาแก้ปวด ยกเว้นผู้ป่วยมีอาการอักเสบที่ตับมาก การให้ยาควรให้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
- อาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร รักษาด้วยการรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย หากอาการยังไม่ดีขึ้นจะให้รักษาด้วยยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
- อาการผื่นผิวหนังและผดผื่นคัน รักษาโดยการหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น น้ำร้อน ผู้ป่วยควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว และควรอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก กรณีที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจให้ยาเพื่อรักษาผดผื่นคัน
นอกเหนือจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลรักษาตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตับทำงานหนักขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการตับอักเสบแย่ลงกว่าเดิม
โรคไวรัสตับอักเสบเอเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของร่างกายของคนเรา ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่สามารถหายขาดได้ด้วยตนเอง น้อยมากที่จะมีอาการหนักหรือมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยควรป้องกันตัวเองด้วยวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ และดูแลสุขภาพด้วยวิธีสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพชีวิตที่ปลอดภัย ไม่ต้องกังวลใจกับโรคภัยรบกวน
เรียบเรียงข้อมูลจาก
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ – Bumrungrad International Hospital
- มูลนิธิเอ็มพลัส – MPLUS
- HonestDocs
- The Centre for Health Protection
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข