โรคบาดทะยัก (Tetanus) คือ โรคที่เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียม เททาไน (Clostridium Tetani) สามารถติดเชื้อผ่านทางบาดแผลบนร่างกาย มักจะทำให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาท และทำให้เกิดอาการปวดเกร็งตามกล้ามเนื้อ เชื้อบาดทะยักเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) และจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีมากในที่ที่มีออกซิเจนน้อย เป็นเชื้อที่คงทนต่อสภาพแวดล้อมมาก จึงมีโอกาสที่เราสามารถติดเชื้อชนิดนี้ได้ง่าย วิธีป้องกันโรคบาดทะยักที่ดีที่สุดคือการได้รับวัคซีนบาดทะยัก
การรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคบาดทะยักในกรณีที่ได้รับบาดแผลแล้ว จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอาการบาดเจ็บนั้นเคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือไม่ หรือบาดแผลที่ได้รับมานั้นเป็นบาดแผลประเภทใด ประเภทของบาดแผลสามารถแยกออกได้เป็นบาดแผลสะอาด (Clean wound) และบาดแผลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก (Tetanus prone wound) สำหรับวิธีรับวัคซีนบาดทะยักมีดังนี้ คือ
สารบัญเนื้อหา
วิธีรับวัคซีนสำหรับผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนบาดทะยัก
สำหรับผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน หรือผู้ที่รับวัคซีนบาดทะยักแล้วแต่รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม หรือผู้ที่ไม่ทราบประวัติการรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักของตนเอง มีวิธีในการรับวัคซีนดังนี้
-
กรณีบาดแผลสะอาด
ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนบาดทะยักมาก่อน หรือรับวัคซีนไม่ครบ เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นตามร่างกายซึ่งเป็นแผลสะอาดและไม่มีสิ่งสกปรกตกข้างอยู่ในแผล การรับวัคซีนจะต้องรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (Tetanus Toxoid: TT) หรือวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Diphtheria and Tetanus Toxoid Vaccine: dT) โดยรับวัคซีนจำนวนทั้งหมด 3 เข็ม เมื่อรับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ให้รับวัคซีนเข็มที่สองหลังจากผ่านไป 1 เดือน และรับวัคซีนเข็มที่สามอีกครั้งหลังจากผ่านการรับวัคซีนเข็มที่สองไปแล้ว 6 เดือน
-
กรณีบาดแผลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก
ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนบาดทะยักมาก่อน หรือรับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ทราบประวัติการรับวัคซีนบาดทะยัก หากมีบาดแผลเกิดขึ้นตามร่างกายซึ่งเป็นแผลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก ต้องรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (Tetanus Toxoid: TT) หรือวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Diphtheria and Tetanus Toxoid Vaccine: dT) โดยรับวัคซีนจำนวนทั้งหมด 3 เข็ม เมื่อรับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ให้รับวัคซีนเข็มที่สองในอีก 1 เดือนต่อมา เข็มที่สามให้รับหลังจากผ่านไปแล้ว 6 เดือน การรับวัคซีนสำหรับผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อบาดทะยัก ให้รับวัคซีนบาดทะยักร่วมกับเซรุ่มต้านพิษบาดทะยักตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษา
วิธีรับวัคซีนสำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักครบ
สำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบ 3 เข็ม หรือเคยรับวัคซีนมามากกว่า 3 เข็มขึ้นไป ในบางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนเพิ่ม เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ แต่ในบางกรณีอาจจะต้องรับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้ง หากการรับวัคซีนบาดทะยักครั้งสุดท้ายนั้นผ่านไปแล้วหลายปี วิธีการรับวัคซีนมีดังนี้
-
กรณีบาดแผลสะอาด
สำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักครบแล้ว เมื่อได้รับบาดแผลตามร่างกายที่มีลักษณะเป็นแผลสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกตกข้างอยู่ภายในแผล หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานเกินกว่า 10 ปี ให้รับวัคซีนบาดทะยัก (Tetanus Toxoid: TT) หรือวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Diphtheria and Tetanus Toxoid Vaccine: dT) กระตุ้น1 เข็ม โดยไม่ต้องรับเซรุ่มต้านพิษบาดทะยัก
-
กรณีบาดแผลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก
สำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักจนครบทั้ง 3 เข็มแล้ว เมื่อได้รับบาดแผลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานเกินกว่า 5 ปี ให้รับวัคซีนบาดทะยัก (Tetanus Toxoid: TT) หรือวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Diphtheria and Tetanus Toxoid Vaccine: dT) กระตุ้น1 เข็ม โดยไม่ต้องรับเซรุ่มต้านพิษบาดทะยัก
การรับวัคซีนบาดทะยักเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคบาดทะยัก ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถมีภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ และไม่ต้องเป็นกังวลมากจนเกินไปเมื่อเกินบาดแผลบนร่างกาย ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนบาดทะยักมาก่อนควรรับวัคซีนบาดทะยักเพื่อป้องกันอันตรายจากการติดเชื้อที่อาจเกินขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว ผู้ที่เคยรับวัคซีนบาดทะยักแล้วควรรับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก 10 ปี เพราะถึงแม้ว่าบางครั้งบาดแผลที่เกิดขึ้นบนร่างกายของเราอาจดูเล็กน้อย แต่หากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อบาดทะยักสามารถทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย และทำให้เสียชีวิตได้ การป้องกันตนเองด้วยการรับวัคซีนไว้จึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายของเราที่สุด